xs
xsm
sm
md
lg

ชาวภูหลวงพร้อมใจปล่อย “อีปุ่ม” อาหารเลิศรสชาวเลยคืนสู่ธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลย - ชาวภูหลวงร่วมใจอนุรักษ์สัตว์หายากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ปล่อย “อีปุ่ม” หรือ “อึ่งกรายลายเลอะ” หรือ “ย่ากาบ” ลงลำน้ำสาธารณะกว่า 500 ตัว หวังให้ขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติให้ชาวบ้านได้จับหาบริโภค เผย “อีปุ่ม” เป็นอาหารเลิศรสของชาวจังหวัดเลย


ที่บริเวณสนามโรงเรียนบ้านเลยตาดโนนพัฒนา หมู่ 1 บ้านเลยตาวตาด ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย องค์การบริหารส่วนตำบลเลยวังไสย์ ร่วมกับ ร.ร.บ้านเลยตาดโนนพัฒนา สังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาเลย เขต 2 พร้อมด้วยชาวบ้านเลยตาวตาด จัดให้มีพิธีปล่อย “อีปุ่มอนุรักษ์ย่ากาบ ในโครงการปลูกจิตสำนึกฝึกเยาวชน รู้จักรัก และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นให้ยั่งยืน” โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอภูหลวง เป็นประธานในพิธี

นายพิทักษ์ บัวระภา นายก อบต.เลยวังไสย์ กล่าวว่า เนื่องจากบ้านเลยตาวตาด เป็นหมู่บ้านติดเทือกเขาภูหลวง อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเลย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชาวจังหวัดเลย มีการตัดไม้ทำลายป่าของผู้มีอิทธิพล ทำให้เกิดความแห้งแล้ง สัตว์น้ำที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุม มีปริมาณลดลงเรื่อยมา “อึ่งกรายลายเลอะหรือย่ากาบ” เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำตระกูลอึ่ง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่น เป็นอาหารเลิศรสของชาวบ้านแถบนี้ มีราคาแพง กิโลกรัมละ 200 บาท นิยมนำมาหมก หลาม หรือแกงพื้นเมืองแบบอีสาน

นอกจากนี้ยังเป็นห่วงโซ่อาหารของวงจรอาหารตามธรรมชาติ ระยะแรกเกิดเรียกว่า “อีปุ่ม” มีขนาดใหญ่กว่าลูกอ๊อดของกบและอึ่งอ่างโดยทั่วไป มีลายสีน้ำตาลอ่อนสลับน้ำตาลเข้ม ซ่อนตัวอยู่ตามใบไม้และซอกหิน ริมน้ำ ระยะที่ 2 เรียก “อี่ก่องเก๊าะ ”มีขางอก 4 ขา ยังมีหางอยู่ ตาเริ่มมีสีแดง ลายเข้มสีเทาดำ ระยะเต็มวัยเรียก “ย่ากาบ” ตัวไม่ใหญ่นัก หัวโตลีบลง ขาสั้น ลายไม่เปลี่ยนแต่สีเข้มขึ้น ตาโปน ตาสีแดงเข้มดูหน้ากลัว ไม่นิยมมาบริโภค

ทาง อบต.และชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันให้อนุรักษ์ไว้ เพื่อเป็นการขยายพันธุ์ให้อยู่คู่ป่าภูหลวงและแม่น้ำเลยต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นผลพลอยได้ให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาความสะอาดให้แก่แม่น้ำเลย ไม่ให้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงแม่น้ำ เนื่องจากถ้าน้ำไม่สะอาดย่ากาบจะไม่วางไข่

อีกทั้งทางอบต.จะประกาศพื้นที่ห้ามจับอีปุ่มในรัศมี 1 กม.ห่างจากแม่น้ำเลย โดยจะจัดให้มีพิธีเช่นนี้อย่างต่อเนื่องกันทุกปี

จากนั้นประธานในพิธี พร้อมชาวบ้านร่วมกันปล่อย อีปุ่ม จำนวนกว่า 500 ตัว ลงสู่แม่น้ำเลย ข้างโรงเรียน เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งสัตว์ชนิดนี้จะวางไข่ขยายพันธุ์ในฤดูหนาว ไม่เห็นกบและอึ่งอ่างทางพื้นราบจะขยายพันธุ์ในฤดูฝน



กำลังโหลดความคิดเห็น