สกลนคร/มหาสารคาม- เชื่อเศรษฐกิจปี 53 ฟื้นชีพ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ในจังหวัดสกลนครมีการลงทุนเพิ่มขึ้น การจ้างแรงงานในท้องถิ่นคึกคัก ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมมหาสารคาม ชี้แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเสือ เน้นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% ควบคู่กับอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วอนรัฐบาลให้พิจารณาวันหยุดเทศกาลที่กระทบแรงงานการผลิต
นายยุทธสันติ ศิริพงศ์สิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วไปของปี 2553 มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากเกิดปัญหาภายในประเทศ ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง สภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว ตลาดหุ้นแปรปรวน รวมถึงราคาน้ำมันและทองคำที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องอัดฉีดเม็ดเงิน ในการกระตุ้นภาวะการเงินการลงทุนของประเทศ
โดยเฉพาะทุ่มเม็ดเงินลงมาอัดฉีดภาคอุตสาหกรรมให้สามารถฟื้นตัวได้ รวมถึงการกระตุ้นประชาชนให้สามารถใช้จ่ายได้คล่องตัว เพื่อเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่ชะลอตัว ซึ่งทั้งหมดเริ่มส่งผลในทางเป็นบวก ดีขึ้นบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ในช่วงเวลาเดียวกัน
นายยุทธสันติ ระบุว่า ในส่วนของจังหวัดสกลนครภาวะเศรษฐกิจปี 2553 เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยเห็นได้จากโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ พบว่าการก่อสร้างมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานในพื้นที่มีงานหรือการใช้แรงงานมากขึ้นหลังจากที่ซบเซาต่อเนื่องในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลบวกของมวลรวมมากว่า 30% ซึ่งจากเดิมมีค่าเป็น 0 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้การใช้แรงงานภาคเกษตรและภาคการก่อสร้าง ก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการจ้างแรงงานวันละ 150 -170 บาท
อย่างไรก็ตาม มูลค่ามูลรวมของเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสกลนครยังต้องรอเม็ดเงินอัดฉีดจากภาครัฐเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐควรมีมากกว่าที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงปลายปี 2553 น่าจะมีลู่ทางที่ดีขึ้นมากกว่านี้หรือน่าเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายสมพงษ์ พวงเวียง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ปี 2553 ของจังหวัดมหาสารคาม จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่ม ซึ่งมีออเดอร์สั่งจองเพื่อส่งออกต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนแล้ว กว่าร้อยละ 30 ด้วยการพัฒนาพนักงานและบุคลากรให้สามารถผลิตชิ้นส่วนได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อลดการสูญเสียวัตถุดิบและลดต้นทุนการผลิต
ปัญหาที่พบด้านแรงงานแม้แรงงานภาคเกษตรจะหวนคืนสู่ภาคอุตสาหกรรมหลังฤดูการทำนา แต่จากที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันทั้งช่วงเทศกาลปีใหม่ และอีกไม่กี่เดือนก็ถึงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ขาดแคลนแรงงานการผลิต เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนตามออเดอร์ที่สั่งค่อนข้างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ามหาศาล จึงอยากจะฝากถึงรัฐบาลให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวให้ดีและพัฒนาเรื่องไอทีให้ต่อเนื่อง
ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกทั้งข้าว อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง กว่า 2.2 ล้านไร่ ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักดังกล่าว เพื่อให้จังหวัดมหาสารคามเป็นแหล่งผลิตพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก้าวเข้าสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรต่อไป