แพร่ – ตามรอยกลุ่ม “เยาวชนคนต้นน้ำสรอย” ยุวชนรักษ์ถิ่น ลูกหลานชุมชนต้นน้ำกลางป่าเมืองแพร่ ที่ปลุกสำนึกผู้ใหญ่ร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ขวางนายทุนฮุบสัมปทานแหล่งทรัพยากรใต้ดินของท้องถิ่น
หลังเหตุการณ์ที่นายทุนรุกป่าเข้ามาสำรวจแร่เหล็กในพื้นที่ตำบลสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อปี 51 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตื่นตัวของชาวบ้านในการคัดค้านนายทุนอย่างเข้มข้นในพื้นที่ และก่อกำเนิด “กลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำสรอย” ขึ้นมาแสดงบทบาทคัดค้านร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างเต็มที่
เยาวชนคนต้นน้ำสรอย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ด้วยชื่อกลุ่ม ธนาคารเด็ก มีสมาชิกอยู่เพียง 5 คนในพื้นที่บ้านปางงุ้น ตำบลสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ การรวมกลุ่มในระยะแรกเป็นเพียงการรวมกันเพื่อทำกิจกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น การเล่นกีฬา การรณรงค์ต้านยาเสพติด เป็นต้น แต่ช่วงนั้นกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านแต่อย่างใด กลับถูกมองไปในทางลบมากกว่าทางบวก
นางสาวกฤษณา จิตเสงี่ยม หรือน้องหยก อายุ 22 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎเอกพัฒนาชุมชนปี 4 ในฐานะประธานกลุ่มฯ กล่าวถึงการเริ่มต้นตั้งกลุ่มว่า ระยะแรกที่ก่อตั้งกลุ่ม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ให้การสนับสนุนและมองว่า เด็กมาอยู่รวมกันก็พากันไปเที่ยวมั่วสุมกันมากกว่า ไม่มีประโยชน์ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่าการรวมตัวของเรา เน้นไปที่การทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม จนปัจจุบันผู้ใหญ่ให้การยอมรับ ที่สำคัญเรากลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำงานเยาวชนในระดับตำบลที่มีผลงานเป็นจริงเป็นจัง
แม้ระยะแรกจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ในชุมชนก็ตาม แต่หลังจากนั้นไม่นาน (ปี 2551) เกิดเหตุการณ์นายทุนเข้ารุกพื้นที่ป่าเพื่อสำรวจแหล่งแร่เหล็กใต้ดินในเขตตำบลสรอย ส่วนใหญ่ชาวบ้านเชื่อว่าเป้าหมายของนายทุนที่เข้ามาสำรวจมิใช่อยู่ที่แร่เหล็กที่มีจำนวนน้อยนิดในพื้นที่ หากแต่เป็นแร่ทองคำมากกว่า เพราะประวัติศาสตร์ของตำบลสรอย เคยมีอาชีพการ ตาวคำ หรือร่อนทอง เป็นเครื่องยืนยัน พร้อมกับข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อำเภอวังชิ้น
โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลสรอย คือ แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านออกมาคัดค้านจนเป็นข่าวครึกโครมในระยะที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทันที มีการทำแผ่นพับ ใบปลิว วารสาร ขึ้นมาจากมือของเยาวชนคนต้นน้ำ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา สถานการณ์ ผลกระทบที่จะตามมาหากปล่อยให้นายทุนสามารถสำรวจแร่ดังกล่าวสำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดของการสัมปทานเพื่อทำเหมืองต่อไป
กลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำสรอย เริ่มต้นทำวารสาร โดยใช้ชื่อ “คนลุ่มน้ำสรอย” เน้นเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเคลื่อนไหวในชุมชนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องเหมืองแร่ และเรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน อาทิ สมุนไพรตามตำรับของหมอยาพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ของชุมชน คำศัพท์ท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือ การรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านหันมาให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
วารสารดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้จะไม่มีงบประมาณในการจัดพิมพ์หากแต่กิจกรรมเป็นประโยชน์ที่เยาวชนได้ทำให้กับชุมชน ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนหลายคนได้ให้การสนับสนุน ด้วยวิธีการสนับสนุนเงินเดือนละ 300 บาทบ้าง บางรายให้กระดาษเพื่อนำมาพิมพ์ ที่สำคัญได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อย ๆ จนวารสารที่ผลิตขึ้นมาไม่เพียงพอต่อการแจกจ่ายภายในชุมชน
นอกเหนือจากการทำวารสาร การบันทึกภาพวิดีโอก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารต่อชุมชน ทุกกิจกรรมจะถูกบันทึกภาพวิดีโอด้วยฝีมือของเยาวชนในกลุ่ม แล้วนำมาตัดต่อเพื่อกระชับได้เนื้อหา นำไปฉายตามงานต่าง ๆ ของชุมชนเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เห็นกิจกรรมที่จัดขึ้น อาทิ การบวชป่าบวชดง ที่ชุมชนจัดขึ้น การไปศึกษาดูงานต่างจังหวัดเรื่องของเหมืองแร่ทองคำที่พิจิตร เหมืองโปแตสที่อุดรธานี เพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่เป็นประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน
นายสินธุ นันทวงค์ หรือน้องเม่น อายุ 15 ปี ตากล้องและมือตัดต่อประจำกลุ่มฯ กล่าวว่า ภายในกลุ่มจะแบ่งหน้าที่กัน ผมเป็นคนถ่ายภาพโดยใช้กล้องวิดีโอ หลังจากถ่ายเสร็จก็จะนำมาตัดต่อ โดยมีเพื่อนอีกคนช่วยกันตัดต่อ ใส่เสียงและตัวหนังสือเข้าไป เสร็จแล้วก็จะนำมาฉายให้ผู้ใหญ่ดูในงานต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวัด สิ่งที่ทำได้รับคือ ผู้ใหญ่ชอบ เพราะเห็นว่าเราไม่ได้ไปทำอะไรเสียหาย แต่กลับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของเยาวชนทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ตื่นตัวในเรื่องของนายทุนที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ในชุมชน กลายเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่เลยก็ว่าได้
กิจกรรมต่างๆที่ถูกจัดขึ้นในชุมชนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชุมชนในเชิงสร้างสรรค์เท่านั้น หากแต่ทำให้เกิดประโยชน์กับเด็กเยาวชนโดยตรง คือ การเรียนรู้ชุมชนผ่านการทำงานเป็นเครื่องมือที่พัฒนายกระดับจิตใจและความรู้ในระดับท้องถิ่นและสถานการณ์สังคมเป็นอย่างดี เด็กเหล่านี้ได้ถูกเปิดโลกทัศน์ที่มิใช่การเรียนการสอนในห้องเรียนแคบๆเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ ห้องเรียนที่เรียนร่วมกับชุมชนนั่นเอง
ด.ญ.รัชนีกร สมเอย หรือน้องนุ่น อายุ 14 ปี เรียนอยู่ชั้นม. 2โรงเรียนม่วงคำ กล่าวว่า สนุกกับการทำงานในกลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำสรอย เพราะเราใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นของเรา มีโอกาสเดินป่าสำรวจสมุนไพรกับพ่ออุ้ยแม่อุ้ย สัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชน แล้วนำมาเขียนเป็นเรื่องราวเล่าขานให้คนในชุมชนได้อ่านผ่านตัววารสารคนต้นน้ำที่กลุ่มได้ทำกันเดือนละ 1 ฉบับ ตรงนี้ช่วยทำให้เรารักท้องถิ่น และเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นเราเพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญปัญหาของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องนายทุนที่เข้ามาในชุมชนและอยากได้ทรัพยากรแร่ใต้ดินของเรา เราไม่ได้เรียนในห้องเรียน แต่เรากลับมีโอกาสเรียนไปพร้อมๆ กับพ่อแม่และคนในหมู่บ้าน ซึ่งบางครั้งสิ่งที่เรารู้มาเราก็สามารถถ่ายทอดให้กับผู้ใหญ่ได้อีกด้วย
ดังนั้น กิจกรรมระยะหลังของเยาวชนคนต้นน้ำจึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษาหาข้อมูลเรื่องของเหมืองแร่ทองคำเป็นหลัก เพื่อนำเอาข้อมูลที่ได้มาเขียนเป็นเรื่องราว สื่อแบบง่ายเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน ได้เห็นผลกระทบในทุกด้านทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน หากเกิดการสำรวจเพื่อสัมปทานพื้นที่ทำเป็นเหมืองแร่ไม่ว่าแร่ใดๆ ก็ตาม
ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนคนต้นน้ำสรอย เติบใหญ่ขึ้น มีสมาชิกเพิ่มเป็น 20 คน ใช้วัดปางงุ้น ต.สรอย เป็นสถานที่ทำการของกลุ่ม และมีพระยงยุทธ ธีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้นเป็นที่ปรึกษา ไม่เพียงการเข้ามามีบทบาททางสังคมในเรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากร กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ยังเข้าไปมีบทบาทในด้านการเมืองภาคประชาชนอีกด้วย
โดยเข้าไปมีส่วนร่วมรณรงค์ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลสรอย ที่ผ่านมาร่วมกับกกต.จังหวัด การรณคงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง ที่สำคัญกลุ่มเยาวชนฯยังมีแผนที่จะพัฒนางานของกลุ่มมากขึ้น โดยวางแผนทำเวปไซต์ของตนเองเพื่อเป็นกระบอกเสียงที่ดังกว่าพื้นที่แคบ ๆ เพียงตำบลเท่านั้น แต่ทำเพื่อให้เป็นกระบอกเสียงสู่วงกว้าง เป็นอีกหนึ่งกลไกในการต่อสู้กับนายทุนที่จะเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรไปจากบรรพบุรุษของตนเองต่อไป