อุดรธานี - จังหวัดอุดรฯบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการเข้มป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 53 ตั้งเป้าอุบัติเหตุเกิดไม่เกิน90 ครั้ง ตายไม่เกิน 3 ราย
นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจรกลับภูมิลำเนา และพาครอบครัวสังสรรค์ รื่นเริง และท่องเที่ยว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ จากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.อุดรธานี เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปี 2552 จำนวน 95 ครั้ง ผู้บาดเจ็บจำนวน 100 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย
โดยรถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 จำนวน 81% รองลงมาคือรถปิกอัพและรถเก๋ง ส่วนสาหตุหลักมาจากเมาสุรา 37% รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด และตัดหน้ากระชันชิด
ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2553 นี้ จ.อุดรธานี มีแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงเตรียมความพร้อม ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2.ช่วงปฏิบัติการเข้มข้น ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม - 4 มกราคม 2553 และได้กำหนดช่วงเวลาดำเนินการรณรงค์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม - 4 มกราคม 2553 นี้
โดยกำหนดให้เรียกช่วงรณรงคว่า “7 วันขับขี่ปลอดภัย เทอดไท้องค์ราชันย์” ซึ่งเป้าหมายการดำเนินการ คือให้สามารถลดจำนวนครั้งของการเกิดุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม - 4 มกราคม 2553 ให้ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเทศกาลปีใหม่ 2552
โดยกำหนดเป้าหมายจำนวนครั้งอุบติเหตุเกิดขึ้นไม่เกิน 90 ครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิตไม่เกิน 3 ราย และจำนวนผู้บาดเจ็บไม่เกิน 95 ราย โดยใช้มาตรการเน้นหนัก 8 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ ด้านการป้องปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ด้านสังคมละชุมชน ด้านความปลอดภัยของถนนและรถยนต์ ด้านการช่วยเหลือกู้ชีพกู้ภัย ด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก และมาตรการด้านการรายงานผลและวิเคราะห์ข้อมูล
นายอำนาจกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีแผนการดำเนินงานอีก 4 แผนงาน คือ 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด อำเภอ 2.การตั้งจุดตรวจร่วม ด่านตรวจร่วม บนเส้นทางสายหลัก สายรอง 3.การตั้งจุดสกัดประจำชุมชน หมู่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเบื้องต้นในระดับพื้นที่ และ 4.การตั้งหน่วยสนับสนุน และบริการประชาชนระดับพื้นที่ โดยกำหนดโครงการ กิจกรรม การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตามภารกิจหลักของหน่วยงาน