ศูนย์ข่าวศรีราชา -นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย หวั่นนโยบายเร่งผลักดันเกษตรกรผู้ปลูกสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดให้ส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้นของรัฐบาล อาจส่งผลเสียต่อกระบายการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ อาจทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน และผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับต้นทุนข้าวโพดที่สูงขึ้นแล้ว 2 บาทต่อกิโลกรัม จี้หากไม่เร่งแก้ไขไทยจะเสียโอกาสในการส่งออกเนื้อสัตว์ไปยังต่างประเทศเพราะไม่สามารถสู้ราคาคู่แข่งจากจีนและบราซิลได้
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยถึงผลกระทบจากนโยบายเร่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าการเกษตรส่งผลผลิตออกจำหน่ายยังต่างประเทศของรัฐบาลโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ว่า เริ่มทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศได้รับผลกระทบหลังวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งใช้ในระบบการผลิตสูงถึง 60% ผลที่ตามมาก็คือ ข้าวโพดที่ใช้ในกระบวนการผลิตขณะนี้ราคาปรับสูงขึ้นแล้วถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม และยังเกรงว่าหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขให้ระบบการส่งออกและการผลิตข้าวโพดเพื่อใช้ภายในประเทศเกิดความสมดุล ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการส่งออกอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะเนื้อไก่ดิบและเนื้อไก่ปรุงสุกจากไทยจะเกิดปัญหาทางการแข่งขัน เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่ไทยต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและหากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ขาดแคลนก็จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการสร้างต้นทุนโดยใช่เหตุ ผลที่ตามมาก็คือการไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างจีน และบราซิลที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าได้
“ การส่งออกข้าวโพดจากไทยไปยังต่างประเทศขณะนี้ถือว่า ผิดปกติจนอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ กล่าวคือในปี 2551 ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังต่างประเทศ 3.4 แสนตัน แต่หลังจากที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์เร่งให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งออกข้าวโพด ทำให้ในช่วง 10 เดือนของปี 2552 ไทยส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 6 แสนตันและมีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านตัน ”
นางฉวีวรรณ ยังเผยอีกว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกข้าวโพดของไทยรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเก็บสต๊อกและส่งออกมากขึ้นเป็นเพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสภาพอากาสที่มีฝนตกหนักและการเกิดน้ำค้างแข็งในสหรัฐฯ ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวโพดของสหรัฐฯล่าช้าและได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการเรียกร้องและขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็คือ การเข้ามาสอดส่องดูแลการส่งออกข้าวโพดให้เป็นไปอย่างสมดุล เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนข้าวโพดอย่างหนัก
นอกจากนี้ อาจไม่สามารถเสาะหาวัตถุดิบข้าวโพดจากประเทศเพื่อนได้เนื่องจากทั้งกัมพูชาและลาวต่างมีตลาดส่งออกข้าวโพดอย่างจีนและเวียดนามอยู่แล้ว นอกจากนั้นการที่กระทรวงพาณิชย์ ไม่เร่งจัดประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ากากถั่ว ซึ่งใช้เเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์มากถึง 25%เสียภาษีอย่างถูกต้อง ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ให้กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ของไทยเกิดปัญหา
“ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาห กรรมการเลี้ยงสัตว์โดยรวม และในที่สุดหากต้องมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้ราคาจำหน่ายในประเทศก็จะสูงตาม ซึ่งปกติแล้วประเทศไทยมีการผลิตข้าวโพดปีละ 3.89 ล้านตัน แต่ปัจจุบันความต้องการในประเทศกลับมีสูงถึง 3.96 ล้านตัน” นางฉวีวรรณ กล่าว