xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสูญ “ลูกเสือโคร่งขาว” ไตวายเฉียบพลันตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สูญเสียลูกเสือโคร่งขาววัย 8 เดือน สัตว์ป่าหายากที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ที่ตายด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน ส่งชิ้นเนื้อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนคาด 2-3 วันรู้ผล พร้อมสั่งเฝ้าระวังและสังเกตอาการอีก 11 ตัวที่เหลืออย่างใกล้ชิด

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ (13 พ.ย.) แจ้งว่า ลูกเสือโคร่งขาวตัวเมียอายุ 8 เดือน ชื่อ “พวง” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ และมีเหลืออยู่ในโลกน้อยมาก ของสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ตายลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า ลูกเสือโคร่งขาวตัวดังกล่าวได้ตายลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.2552 ที่ผ่านมา หลังจากที่เริ่มมีอาการป่วยเมื่อประมาณ 1 เดือนก่อน พร้อมกับลูกเสือโคร่งขาวอีกตัวที่เกิดคอกเดียวกันด้วยอาการขาหลังอ่อนแรงและท้องร่วง ซึ่งที่ผ่านมาสัตวแพทย์ได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดจนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ

จนกระทั่งอาการทรุดและเสียชีวิตลงในวันดังกล่าวด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน โดยสาเหตุการตายที่ชัดเจนนั้น ขณะนี้ได้มีการส่งตัดชิ้นเนื้อไปทำการตรวจอย่างละเอียดแล้ว คาดว่า จะทราบผลภายใน 2-3 วันนี้ ส่วนลูกเสืออีกตัวหนึ่งตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี แต่สัตวแพทย์ยังให้การดูแลใกล้ชิด

สำหรับลูกเสือโคร่งขาวที่ตายนั้น ผู้จัดการพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กล่าวว่า มีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท เป็นลูกเสือโคร่งขาวที่เกิดจากพ่อพันธุ์ “เพชร” และแม่พันธุ์ “พลอย” ที่ได้รับมอบมาจากสวนสัตว์เชียงใหม่ แล้วเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีทำการเพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ปัจจุบันในโลกมีเสือโคร่งขาวเหลืออยู่น้อยมาก แต่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีเสือโคร่งขาวที่หายากนี้อยู่ในความดูแลมากถึง 11 ตัว หลังจากที่ต้องสูญเสียลูกเสือโคร่งขาวตัวดังกล่าวไปแล้ว

ขณะเดียวกัน นายณรงค์ กล่าวถึงการดูแลเสือโคร่งขาวที่เหลืออยู่ว่า เวลานี้สัตวแพทย์ได้ทำการสังเกตและเฝ้าระวังอาการเสือโคร่งขาวทุกตัวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำการกันพื้นที่บริเวณที่เป็นส่วนจัดแสดงและเลี้ยงเสือโคร่งขาวให้เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อแล้วด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากลักษณะการเสียชีวิตของลูกเสือโคร่งขาวตัวดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการรับสารเคมีเข้าไป จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจนกว่าจะทราบสาเหตุที่แท้จริง

กำลังโหลดความคิดเห็น