ตาก- สั่งสอบย้อนหลังยกกระบิ ขบวนการสวมสิทธิ์ผู้อพยพหนีภัยสงครามไปประเทศที่ 3 ผู้ว่าฯตาก ยันได้รับรายงานลับแล้ว หากเจอหลักฐานฟันไม่เลี้ยงแน่ ประกาศให้หน่วยงานรัฐดูแลผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมคนไทย ใครกลั่นแกล้งต้องถูกลงโทษและดำเนินคดี
วันนี้ (13 พ.ย.)นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราว ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบจังหวัดตาก (ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า) ครั้งที่ 1/2552 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม กว่า 50 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง-ทหาร-ตำรวจ ตระเวนชายแดน-ตำรวจภูธร-จาก 5 อำเภอชายแดน (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด-ท่าสองยาง-และ อุ้มผาง)และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ NGO กว่า 20 องค์กร
ทั้งนี้ เพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการดูแลและควบคุมผู้หนีภัยจากการสู้รบ ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 3 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า คือ ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ (ศูนย์อพยพบ้านแม่หละ) อ.ท่าสองยาง-ศูนย์อุ้มเปี้ยม อ.พบพระ และศูนย์บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จำนวนรวมกันกว่า 50,000 คน โดยมีแผนการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานภาคสนามของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และ NGOs
นายสามารถ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีสัญญาณอะไรจะบอกได้เลยว่าในอนาคตข้างหน้าการแก้ไขปัญหาผู้อพยพจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันพื้นที่พักพิง กลายเป็นแหล่งที่อยู่ถาวรของผู้อพยพไปแล้ว หลังอยู่มานานกว่า 25 ปี สิ่งที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุดคือการดูแลและเอาใจใส่ผู้อพยพตามหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนไทย โดยจะมอบนโยบายและแนวการปฏิบัติกลุ่มผู้อพยพอย่างดีตามหลักสากล และตนเองได้กำชับและให้นโยบายในการจัดระเบียบชายแดนและดูแลผู้อพยพ 3 ข้อใหญ่คือ
1.ปราบปรามการโจรกรรมรถข้ามแดนรวมถึงกลุ่มที่ก่ออาชญากรรม 2.ป้องกัน-ปราบปรามและกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดและ 3.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพ คือ การป้องกันปราบปรามและจับกุมการค้าแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย
“ในยุคโลกไร้พรมแดน ข่าวสารไม่มีทางถูกปิดกั้นการกระทำต่อผู้อพยพที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว ประกอบกับการถูกกดขี่ข่มเหงบางครั้งต้องได้รับการดูแลและแก้ไข พวกเค้า คือคนคนหนึ่งที่ต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยหรือจน”
ผู้ว่าฯตาก บอกว่า ที่ผ่านมา เขาได้รับทราบข้อมูลในทางลับว่า มีผู้อพยพถูกสวมสวมชื่อรับสิทธิ์เดินทางไปประเทศที่ 3 ขององค์การโยกย้ายถิ่นฐานะระหว่างประเทศ IOM โดยผู้อพยพจริงๆที่ได้ยื่นคำขอไปประเทศที่ 3 ไม่ได้เดินทางไปจริง แต่ถูกกลุ่มคนที่มีฐานะและเป็นนักธุรกิจ พวกนักศึกษา หรือคนที่รู้จักและสนิทกับเจ้าหน้าที่ รับสิทธิแทนโดยสวมชื่อและทะเบียนเพื่อเดินทางไปประเทศที่ 3 ซึ่งขณะนี้กำลังจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงย้อนหลังทั้งหมด หากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการสวมสิทธิผู้อพยพ เพื่อให้ความเป็นธรรมและความเสมอภาคกับผู้อพยพที่เดือดร้อนและด้อยโอกาสเหล่านี้
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมวันนี้ หน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ ทั้งด้านงานระหว่างประเทศ-การช่วยเหลือด้านอุปโภค-บริโภค-ด้านการศึกษา- การเรียนรู้นอกโรงเรียน-โรคติดต่อ-โครงการตั้งถิ่นฐาน-ด้านกฎหมาย ฯลฯ กว่า 20 องค์กร ได้เสนอปัญหาและขอรับการแก้ไขจากนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งทาง ผวจ.ตาก รับที่จะเร่งดำเนินการให้ และยังเน้นถึงการให้ความเป็นธรรมตามหลักมนุษยธรรม