เชียงราย – หอฯ เชียงรายระดมศิลปินชื่อดังในท้องถิ่น ผุดโครงการ “เสาเล่าขานตำนานเมือง” จารประวัติศาสตร์ผ่านงานศิลป์บนเสาไม้สัก ก่อนนำไปตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ ทั่วเมือง หนุนท่องเที่ยว เบื้องต้นเซลไอเดียผ่านเทศบาลฯ - ส่วนราชการหลายหน่วยเห็นพ้อง ตั้งเป้าหางบ 30 ล้าน ทำให้ได้ 100 ต้น
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (6 พ.ย.) ที่สำนักงานหอการค้า จ.เชียงราย นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ได้จัดประชุมร่วมกับบรรดาศิลปินหรือ "สล่า" ชาวเชียงราย ที่มีฝีมือและชื่อเสียงจำนวนประมาณ 20 คนเช่น อาจารย์พรหมมา อินยาศรี, อาจารย์ยุทธนา วงศ์ใหญ่, อาจารย์อโศก ศรีสุวรรณ ฯลฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดสร้างเสาแกะสลักเล่าขานตำนานเมืองเชียงราย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะร่วมกันดำเนินโครงการแกะสลักไม้เสาสักเพื่อเล่าขานตำนานเมืองเชียงรายต่อไป
นายวิรุณกล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากการที่หอการค้าและบรรดาศิลปินทั้งหมดเห็นว่าเมืองเชียงรายเราเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ดังนั้นแทนที่จะเราเล่าขานเรื่องราวลงตามหนังสือต่างๆ ก็ควรจะนำงานศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการใช้จุดแข็งที่สุดคือ การนำเอาความเป็นเมืองศิลปินซึ่งมีศิลปินอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มาช่วยกันสรรสร้างผลงานแกะสลักลงบนเสาไม้สัก ความกว้างพอประมาณและยาวประมาณ 6 เมตร จากนั้นนำเสาไปตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อเล่าขานเรื่องราวผ่านงานศิลปะ
จากการหารือกับบรรดาศิลปินพบว่า ทุกคนดีใจและเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะได้ประกาศศักดาสู่งานศิลปะดังกล่าวควบคู่การเล่าขานตำนานเมืองเชียงรายไปด้วย
นายวิรุณกล่าวอีกว่า นอกจากจะเป็นผลดีต่อการเล่าขานตำนานและประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายยังเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวด้วย เพราะทำให้นักท่องเที่ยวทั่วไปให้ความสนใจ ตั้งแต่การเริ่มจัดสร้างด้วยการแกะสลัก และเมื่อแล้วเสร็จก็นำไปตั้งตามจุดต่างๆ ได้อย่างสวยงาม ดังนั้นจึงได้หารือกับทางเทศบาลนครเชียงราย เพื่อขอรับการสนับสนุนและเรื่องสถานที่ ซึ่งทางเทศบาลก็เห็นชอบด้วย
เบื้องต้นมีการกำหนดสถานที่เปิดตัวโครงการ และแกะสลักภายในสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนธนาลัย อ.เมือง เมื่อจัดสร้างแล้วเสร็จก็จะนำไปตั้งตามจุดต่างๆ เช่น วัดงำเมือง ศูนย์ราชการจังหวัด ฯลฯ ซึ่งจะได้หารือกันต่อไป
นายวิรุณกล่าวต่อว่า เสาที่แกะสลักจะแกะตามเรื่องราวเป็นเรื่องๆ ไป ตามที่บรรดาศิลปินและปราชญ์ทั้งหลายได้ร่วมกันเรียบเรียงเป็นข้อมูลที่ชัดเจนดีแล้ว เช่น อาจจะเปลี่ยนชื่อจากพ่อขุนเม็งราย เป็นพญามังราย ฯลฯ เพื่อให้ตรงกับประวัติศาสตร์โบราณ นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ มาเป็นสิ่งยืนยัน รวมทั้งการเรียบเรียงเพื่อนำไปแกะสลักไม้สัก อาจจะเป็นเรื่องราวตั้งแต่ก่อนการสร้างเมืองเชียงรายด้วย เพราะพื้นนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่น่าสนใจมากมาย เช่น เวียงหนองหล่ม โยนกนาคนคร ฯลฯ
“ตอนนี้อยู่ในช่วงการหารือและจัดแบ่งหน้าที่กัน โดยด้านงบประมาณในการจัดหาจะได้ประสานไปยังหน่วยงานราชการ ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรับบริจาคทั่วไป และมีการจัดสร้างเพื่อให้บูชาพระรูปของพ่อขุนเม็งรายมหาราช สร้างจากเรซิน อันเป็นผลงานและลิขสิทธิ์ของคุ้มเมืองมาง โดยอาจารย์ยุทธนา วงศ์ใหญ่ หนึ่งในศิลปินผู้ผลักดันเรื่องนี้ เพื่อนำรายได้มาใช้ในการจัดสร้าง โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ทั้งค่าไม้สักและศิลปินต้นละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทขึ้นไป” นายวิรุณกล่าว และว่า
เป้าหมายคือจะทำให้ได้ประมาณ 100 ต้นหรือใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท แต่เบื้องต้นก็อาจจะทำประมาณ ุ6-10 ต้นไปก่อนและค่อยๆ ทยอยทำโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่เชื่อว่าโครงการนี้แค่เริ่มต้นแกะสลักก็จะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวแล้ว