ตาก- ทหารกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA จำนวน 10 นาย พร้อมอาวุธครบมือ เข้ามอบตัวกับกองกำลังทหารกะเหรี่ยงคริสต์ KNU ที่ ฐานที่มั่น เขตอิทธิพลของกองพล 7 ของ KNU
รายงานข่าวจากชายแดนไทย-พม่า ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก แจ้งว่า วันนี้ (19 ต.ค.)ทหารกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA จำนวน 10 นาย พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งปืนพก-ปืนยาวประจำกายและเครื่องกระสุน-ระเบิด-และอุปกรณ์สนาม ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับกองกำลังทหารกะเหรี่ยงคริสต์ KNU ณ ฐานที่มั่นแห่งหนึ่ง เขตอิทธิพลของกองพล 7 ของ KNU โดยฝ่ายกะเหรี่ยงคริสต์ได้จัดพิธีรับมอบและให้เกียรติกับทหาร DKBA ที่มอบตัวอย่างสมเกียรติและระบุว่า เป็นการกลับเข้ามาร่วมงานในการฟื้นฟูกองทัพกะเหรี่ยง และประกาศอิสรภาพของชนชาวกะเหรี่ยงต่อไป
แหล่งข่าวจากนายทหารระดับสูงของฝ่าย KNU กล่าวว่า ทหารฝ่าย DKBA จำนวน 10 นาย ที่เข้ามามอบตัวครั้งนี้ ได้หนีทัพมาจากกองบัญชาการใหญ่ของกะเหรี่ยงพุทธ ที่วัดเมี่ยงจีกุง(เมี่ยงยีงู) ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 20-30 ไมล์ เนื่องจากไม่พอใจในนโยบายรัฐบาลทหารพม่า SPDC ที่จะปรับเปลี่ยนสถานภาพ จากกองกำลังทหารกะเหรียงพุทธ DKBA เป็นเพียง กองอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF โดยให้ขึ้นกับยุทธศาสตร์และการบังคับบัญชาของทหารพม่า ทำให้ทหาร DKBA จำนวนดังกล่าวหนีทัพและกลับมาร่วมกับ ฝ่าย KNU เพื่อการปกครองตนเองภายใต้กฎหมายแห่งรัฐกะเหรี่ยง
รายงานข่าวแจ้งว่า กองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ DKBA ได้แยกตัวออกจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ KNU หรือกะเหรี่ยงคริสต์ เมื่อปี 2537 โดยไปเข้าร่วมกับรัฐบาลพม่า และเกิดสงครามชนเผ่าระหว่างกะเหรี่ยงกับกะเหรี่ยงด้วยกัน ต่อมาในปี 2548 ผู้นำบางกลุ่มของทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มที่จะมีการเจรจากันเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและการเข่นฆ่าระหว่างชนเผ่าเดียวกัน ทำให้มีการตกลงในเรื่องพื้นที่ดูแล
ต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มที่จะสร้างความเข้าใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเป็นชนเผ่า และมีพี่น้องในกลุ่มที่ใก้ลกัน ทำให้ประชาชนและทหารบางส่วนบางคนไม่เข่นฆ่ากันเอง และเริ่มที่จะมารวมกันอีกครั้ง เพื่อกอบกู้อิสรภาพและการปกครองภายใต้กฎหมายแห่งรัฐกะเหรี่ยง
รายงานข่าวแจ้งว่า นโยบายของรัฐบาลทหารพม่า SPDC ในปี 2552 ได้ส่งผู้แทนทหารเข้าไปเจรจากับชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่างๆ เพื่อหยุดยิงและเจรจาสันติภาพเพื่อให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย (KNU-คะยา KNPP-ไทใหญ่ SSA-ว้า-โกก้าง-กองทัพเมืองลา ฯลฯ) ปรับสภาพกองทัพเป็นกองอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน BGF แต่ชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ไม่ยอม โดยเสนอเงื่อนไขเพียงหยุดยิงและให้คงสภาพเป็นกองกำลังของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อรองรับให้ประเทศพม่าได้จัดการเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2553 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อไม่ให้ชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้มาก่อกวน โดยเบื้องต้นมีข้อยุติร่วมกันเพียงการหยุดยิงเท่านั้น อย่างไรก็ตามทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มก็ยังคงมีการปะทะกันอยู่เป็นระยะๆ