น่าน - ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลน่าน-สสจ.-ตำรวจ และสรรพสามิต ลุยตรวจและปลดป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร้านค้า พร้อมขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดนักดื่มหน้าใหม่ เป็นต้นแบบการรณรงค์
รายงานข่าวจกจังหวัดน่านแจ้งว่า วันนี้ (15 ต.ค.) เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลน่าน, สาธารณสุขจังหวัดน่าน, ตำรวจภูธรจังหวัดน่าน และสรรพสามิตจังหวัดน่าน ร่วมกันออกตรวจป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและขอความร่วมมือในการปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด เพื่อรณรงค์ป้องกันเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้ลดพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายกิติศักดิ์ แก้วนิ่ม นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานเวชกรรมสังคม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวว่า จากการสำรวจ ร้านขายของชำ ร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ และร้านตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉพาะในเขตเทศบาลเมืองน่าน มีจำนวนทั้งหมด 159 ร้าน พบว่าทุกร้านมีป้ายโฆษณาสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ที่มีเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่เปิดเผยและแฝงในรูปแบบของใช้
เช่น ที่ใส่กระดาษชำระ แก้วน้ำ เสื้อผ้าของพนักงานในร้าน ตู้แช่เย็น ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องขอความร่วมมือในการปลดป้ายโฆษณาออก รวมทั้งของใช้ที่มีสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกแห่งเป็นอย่างดี
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในการออกตรวจป้ายโฆษณาสินค้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้ตรวจในพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอปัว, เวียงสา, นาหมื่น, นาน้อย, ท่าวังผา และเชียงกลาง ทั้งที่เป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัวแทนจำหน่าย ร้านสะดวกซื้อ และที่เป็นร้านค้าเล็กๆในชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการปลดป้ายโฆษณา
รวมทั้งงดใช้สิ่งของที่มีเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งคาดว่าจังหวัดน่าน จะเป็นต้นแบบ ในการรณรงค์ลดพื้นที่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดปัจจัยความเสี่ยงที่จะมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของเยาวชน ประชาชน และนักดื่มหน้าใหม่ให้ลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการร้านค้าที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งทางเจ้าพนักงานฯ จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม แต่หากยังฝ่าฝืนกฎหมาย ทางเจ้าพนักงานและคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ จำเป็นต้องดำเนินคดีตามหมายต่อไป