xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิจัย ม.เกียวโต เดินทางมาเก็บข้อมูลวิจัยป่าชายเลนจันทบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จันทบุรี - คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาเก็บข้อมูลวิจัยป่าชายเลนจันทบุรี ชื่นชอบระบบนิเวศ การอยู่ร่วมกันระหว่าง คน ป่า และสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน และรับทราบข้อมูลนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

วันนี้ (13 ต.ค.) นายสมหมาย สรรพคุณหัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 บ้านท่าสอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ได้นำคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นและอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล รวม 8 คน เข้าพบหารือผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อทราบข้อมูลแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์จังหวัดทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชายเลน และสัตว์น้ำชายฝั่ง
 
ประกอบด้วย ดร.ทาเคดะ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ดร.ตูราชิมา ดอกเตอร์ ซาซากิ ร.ศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เภสัชกรหญิง สุปรียา ป้อมประเสริฐ เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรม มหาชน และนักศึกษาฝึกงานคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.ทาเคดะ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าเดินทางเก็บตัวอย่างวิจัยป่าชายเลนเพื่อการอนุรักษ์เปรียบเทียบข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยลงพื้นที่วิจัยข้อมูลในจังหวัดจันทบุรี เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนหน้าที่จะเดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

ทางคณะได้ลงเก็บข้อมูลวิจัยบริเวณป่าชายเลนบ้านท่าสอน อำเภอขลุง พบว่า สภาพป่า และระบบนิเวศโดยรวมมีความสมบูรณ์มาก ประทับใจการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์ ป่า และสัตว์น้ำชายฝั่ง ความร่วมมือของประชาชนและระบบการบริหารจัดการในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คณะวิจัยจะนำข้อมูลวิจัยป่าชายเลนของจังหวัดจันทบุรี ที่ประสบความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ไปขยายผลเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ต่อประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ด้าน นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงการเข้ามาวิจัยของคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีของจังหวัดจันทบุรีเพราะจังหวัดจันทบุรีมีจุดแข็งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และทำกันอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะความร่วมมือของภาคประชาชน ทำให้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว เป็นตัวอย่างที่ดี อนาคตผลการวิจัยนี้จะส่งผลดีต่อชื่อเสียงของจังหวัดและจะมีประชาชน นักท่องเที่ยว ทั่วทุกภูมิภาคเดินทางเข้ามาศึกษา และท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มขึ้น

นายสมหมาย สรรพคุณหัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 บ้านท่าสอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การเข้ามาศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนแบบองค์รวม เก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบตัวอย่าง

โดยคณะให้ความสนใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนอย่างยั่งยืน กล่าวคือ การเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแบบธรรมชาติ ที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง การอนุรักษ์สัตว์น้ำชายฝั่ง การอยู่ร่วมกัน ของคน สัตว์ และธรรมชาติ ที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ด้านข้อมูลที่เก็บไปขอให้มั่นใจว่า ทางศูนย์มีมาตรการรัดกุม ไม่ใช่นำข้อมูลวิจัยแอบไปจดทะเบียนเหมือนที่เป็นข่าว เหมือนพืช ผลทางการเกษตรบางชนิดที่ไทยเสียเปรียบด้านลิขสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น