ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จับมืออุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดสัมมนาหนุนผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อลอจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง หลังพบที่ใช้อยู่ในเวลานี้ยังไม่เหมาะสมส่งผลทำให้สินค้าได้รับความเสียหายและเสียเวลา ขณะที่ผู้ว่าฯ เผยประสานคณะวิศกรรมศาสต์ ม.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพตั้งทีมงานศึกษาสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาระบบลอจิสติกส์ทั้งภาคเหนือ ให้มีประสิทธิภาพรองรับการค้าอนาคต
วันนี้ (30 ก.ย.) นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน เปิดการสัมมนาเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยบรรจุภัณฑ์ลอจิสติกส์” ซึ่งหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลอจิสติกส์ อันจะเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ข่าวสาร สามารถรองรับและสนับสนุนการพัฒนาการบรรจุหีบห่อแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ยุทธศาสตร์ทางด้านลอจิสจิกส์ของจังหวัดเชียงใหม่
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์ของชาติกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่จัดเป็น Creative Industry ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้กว่า 20,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการไทยเข้มแข็งที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมการผลิต และการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ใช้ทุนทางปัญญาเป็นปัจจัยทางการผลิตพื้นฐาน ซึ่งตัวบรรจุภัณฑ์ถือเป็นหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้คำจำกัดความดังกล่าว
บรรจุภัณฑ์เพื่อลอจิสติกส์นั้น จำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อสอดคล้องกับการขนส่งและประเภทสินค้าต่างๆ ซึ่งเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทางด้านตัวสินค้า ทั้งสินค้าการเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้าแปรรูปเกษตร รวมถึงรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย การออกแบให้เหมาะสมสวยงาม มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ นายอมรพันธุ์เผยว่า ขณะนี้ได้ประสานกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาวิจัยและสนับสนุนทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงพัฒนาลอจิสติกส์โดยเฉพาะ
การศึกษาวิจัยและสนับสนุนทางด้านวิชาการ ในเรื่องดังกล่าวนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 8จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดตาก ในการพัฒนาระบบลอจิกติกส์ร่วมกันขึ้นมา ซึ่งจะรีบดำเนินการในเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนโดยเร็วและจะมีการประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หอการค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 10 จังหวัด เพื่อเชิญมาประชุมหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับนี้ต่อไป ซึ่งหากสำเร็จเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความเข้มแข็ง และเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคเหนือได้อย่างดีเยี่ยม รองรับการพัฒนาการค้าในอนาคต
ขณะที่ นายสมชาย ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการขนส่งจำเป็นจะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่มีความเหมาะสมจำนวนมาก สอดคล้องกับการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าเกิดความเสียหายและเสียเวลา รวมทั้งมีการใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมกับสินค้า ส่งผลให้การประกอบการมีต้นทุนสูง มีการถูกปรับเมื่อสินค้าเสียหาย บรรทุกได้ต่ำ เสียเวลา ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องเร่งแก้ไขกันว่าจะต้องพัฒนาด้านใด เช่น การขาดวัสดุ เทคโนโลยี หรือระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการออกแบบโดยมีเป้าหมายที่จะต้องเข้าสู่มาตรฐานสากลให้ได้ในอนาคต
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องบรรจุภัณฑ์ยังมีปัญหาอยู่มาก และกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เช่น กล่องมีขนาดไม่เท่ากันทำให้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ได้น้อยหรือยาก วัสดุไม่เหมาะสมทำให้สินค้าเสียหาย เป็นต้น ดังนั้น หากสามารถออกแบบและมีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสินค้า และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นก็จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการได้” นายสมชายกล่าว
นอกจากนี้ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการในภาคเหนือเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ถือว่ามีต้นทุนที่สูงกว่ามาก เหตุผลเพราะทำการขนส่งได้แค่ทางบกเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสินค้าหลักของภาคเหนือเป็นสินค้าเกษตรหรือเกษตรแปรรูปที่มีราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ แล้ว ยิ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงมาก เมื่อเทียบต่อหน่วยสินค้า และยากที่จะทำการแข่งขันได้ ซึ่งอยากเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งรัดการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของภาคเหนือให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานสากลและมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ