ระยอง - จังหวัดระยองประชุม จัดทำร่างแผนลดและขจัดมลพิษครั้งที่ 3 ก่อนเสนอคณะกรรมการ สวล.
วันนี้ (22 ก.ย.) ที่โรงแรมแคนทารี เบย์ ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุมการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ ครั้งที่ 3 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) ประกอบด้วยตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลเนินพระและตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง รวมพื้นที่ทะเลภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศ โดยมี นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการที่ปรึกษา และนักวิชาการจากหน่วยราชการ ร่วมเป็นคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุม
นายสยุมพร ผวจ.ระยอง กล่าวว่า จังหวัดได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ได้ให้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.เกษม กุลประดิษฐ์ พร้อมคณะทำงานเป็นผู้ดำเนินการการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ ตามที่เทศบาลและอบต. จัดทำประชาคมรับฟังปัญหาจากชาวบ้านสรุปประเด็นหลักๆ นำมาจัดทำแผนฯ ก่อนเสนอจังหวัดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาขั้นสุดท้าย จากนั้นนำไปปฏิบัติตามโครงการต่างๆในแต่ละปีที่บรรจุไว้ในแผนฯ และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขแผนในแต่ละปีให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ผศ.เกษม จากมหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าคณะจัดทำร่างแผนลดและขจัดมลพิษ กล่าวว่า หลังรวบรวมข้อมูลของเทศบาลและ อบต. รวมทั้งสิ้นจำนวน 502 โครงการ โครงการที่ชุมชนให้ความสำคัญซึ่งเป็นปัญหาหลักได้แก่ ปัญหาเรื่องน้ำเสียจำนวน 113 โครงการ รองลงมา เป็นเรื่องขยะโรงงาน ขยะสารพิษ รวม 97 โครงการ ปัญหามลพิษทางอากาศรวม 72 โครงการและปัญหาสุขภาวะ 54 โครงการ
ปัญหาเรื่องน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชุมชนแถบตำบลมาบข่า ได้รับผลกระทบมากที่สุด สำหรับมาบตาพุด ได้รับผลกระทบมลพิษทุกแห่ง เรียกว่าเป็นศูนย์รวมมลพิษ ต้องจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งการจัดทำผังเมืองให้ชัดเจน
ผู้ว่าฯ ระยองกล่าวในตอนท้ายว่า โครงการทั้งหมดต้องมีการกลั่นกรองในปี 2553 ก่อนว่าโครงการใดสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ไปสำรวจมา โครงการนี้ก็จะเป็นโครงการเร่งด่วนเป็นอันดับแรก
สำหรับมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหา มีอยู่ 3 มาตรการมาตรการในเชิงป้องกัน เช่นมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินไปตามมาตรฐานและข้อตกลงที่กำหนดไว้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นและเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน คือเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานอาทิ สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน ที่จะรองรับกับปัญหาได้มากขึ้น