พิจิตร - นายจ้างนำแรงงานพม่าพิสูจน์สัญชาติจากบริษัทเอกชนที่มาให้บริการถึงบ้านแค่ 300 กว่าคน เผยส่วนใหญ่ยังลังเลกลัวสูญเงินค่าบริการ 7-8 พันบาท/หัว หากต่างด้าวได้พาสปอร์ตแล้วหนีไปทำงานที่อื่น
รายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตรแจ้งว่า หลังจากบริษัท ไทย-พม่าร่วมพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนรายหนึ่งใน 3 บริษัท ที่อ้างว่าได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน ไทยและรัฐบาลพม่าให้เป็นผู้บริการพิสูจน์สัญชาติชาวพม่าที่มาทำงานในประเทศไทย ก่อนที่จะให้เดินทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ จ.ตาก ระนอง หรือเชียงราย เข้ามาเปิดจุดบริการสัญจรที่ จ.พิจิตรนั้น ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้บริการเพียง 300 กว่าคนเท่านั้น จากยอดแรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด 1,700 คน
โดยการเปิดจุดบริการสัญจรเพื่อพิสูจน์สัญชาติของบริษัท ไทย-พม่า ร่วมพัฒนา จำกัด จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศพม่าและภาคเอกชนของพม่าร่วมกับตัวแทนบริษัทชาวไทย ทำการสอบประวัติ ถ่ายรูป ออกเอกสารให้ จากนั้นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าก็ต้องขึ้นรถบัสที่บริษัทรับตรวจสัญชาติรับรองแล้ว พาไปยังพรมแดนไทย-พม่า ตามที่แรงงานต่างด้าวระบุ ซึ่งนายจ้างอาจจะพาไปเองก็ได้ หรือจะใช้บริการจากบริษัทก็ได้ ตามความพึงพอใจ
จากนั้นก็จะต้องไปขอทำหนังสือเดินทางออกนอกประเทศพม่า แล้วนำตัวแรงงานพร้อมเอกสารพาสปอร์ตของประเทศพม่า กลับมาส่งยังนายจ้าง และนายจ้างก็จะนำเอกสารมาให้ที่จัดหางานภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ สำนักงานจัดหางานที่ภูมิลำเนาที่ต่างด้าวทำงานอยู่ เพื่อขอทำงานในประเทศไทยตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน
ทั้งหมดนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม อีกกว่า 7-8 พันบาท ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ยังลังเล เนื่องจากเกรงว่าเมื่อแรงานพม่าเหล่านี้ไปถึงชายแดนหรือพรมแดนบ้านของตนเอง อาจเปลี่ยนใจไม่กลับมาพร้อมกับรถที่นำพาไปใครจะรับผิดชอบกับเงินที่เสียไป หรือ ถ้าได้เอกสารแล้วถูกชักชวนให้ไปทำงานกับนายจ้างคนใหม่แล้วเงินที่นายจ้างเก่าจ่ายไปใครจะรับผิดชอบ จึงทำให้เกิดแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ตั้งใจจะหลบหนี หรืออยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ดีกว่าเสียเงิน 7 พันบาท