อุบลราชธานี - สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จับนักการศึกษาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ภาคอีสานและภาคตะวันออก ถกปัญหาการจัดระบบการเรียนการสอน หลังวิจัยพบการมีบ่อนพนัน และยาเสพติด นำมาสู่ความยากจน ครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐาน ทำให้เด็กไม่มีโอกาสเรียนต่อ รวมทั้งปัญหาครูขาดสวัสดิการความปลอดภัย จึงขอย้ายไปสอนโรงเรียนในเมือง ชี้ ทางแก้รัฐจับมือองค์กรเอกชนปลูกจิตสำนึกครูรักถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์การเรียนรู้
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ จ.อุบลราชธานี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดสัมมนาวิเคราะห์ปัญหาการจัดการศึกษาแก่เด็กตามชายแดนไทย-กัมพูชา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก โดยก่อนเริ่มการประชุมผู้ร่วมสัมมนาร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงสดุดีมหาราชา ตามโครงการของรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เป็นวัน “9 ในดวงใจ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ร่วมประชุมได้ร่วมร้องเพลงดังกึกก้องไปทั้งห้องประชุม
ต่อมา ศ.ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ผู้ทำวิจัยปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ได้กล่าวว่า พื้นที่ตามแนวชยแดนทั้ง 2 ประเทศ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้เรียน และโรงเรียนตามแนวชายแดนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สภาพสังคมเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กเศรษฐกิจไม่ดี นักเรียนเป็นนักเรียน 2 สัญชาติ หรือเด็กไม่มีสัญชาติ และเด็กต่างด้าว
สำหรับเด็กชาวกัมพูชาที่มาเรียนไม่ได้มาเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่มีจุดประสงค์ต้องการนำภาษาไทยใช้เป็นมัคคุเทศก์ หรือการติดต่อค้าขายกับคนไทย รวมทั้งจะขอใช้สิทธิมาขายแรงงานในประเทศไทยในอนาคต สำหรับปัญหาของครูตามแนวชายแดนก็คือ โรงเรียนส่วนใหญ่ขาดแคลนครู มีครูไม่ครบชั้นเรียน ครูขอย้ายไปสอนที่โรงเรียนที่เจริญกว่า
เพราะสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการที่ใช้เป็นขวัญกำลังใจแก่ครูตามแนวชายแดนไม่ได้รับอย่างทั่วถึง และครูส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น
ส่วนนักเรียนนอกจากบางส่วนเป็นนักเรียน 2 สัญชาติแล้ว ยังพบว่า สภาพครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่ยากจน ผู้ปกครองต้องพาเด็กอพยพย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพในถิ่นอื่น หรือปล่อยเด็กอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีการเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพแวดล้อมตามชุมชนชายแดนมีปัญหาบ่อนพนัน การแพร่ระบาดยาเสพติด ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาและการเรียนของนักเรียนโดยตรง
ศ.ดร.เสริมศักดิ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่า ความสำเร็จในการจัดการศึกษาตามพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตทรัพย์สินให้ครูในพื้นที่ และต้องได้การเสียสละของครู บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนต้องมีความพร้อมด้านบุคลากร สื่อเทคโนโลยี
รวมทั้งอาคารสถานที่ โดยนอกจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว องค์กรเอกชน และชุมชนต้องให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่ด้วย เมื่อครูมีขวัญกำลังในการทำงานก็จะเกิดความผูกพัน และมุ่งมั่นทำงานในพื้นที่มากขึ้น จะทำให้ปัญหาที่มีได้รับการแก้ไขตามลำดับ