xs
xsm
sm
md
lg

AIA จัดกิจกรรม “สร้างรอยยิ้ม” ตอบแทนสังคมช่วยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ขอนแก่น 80 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีกิจกรรมแถลงข่าว โครงการ “เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม” ที่เอไอเอ ร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - AIA จัดกิจกรรมตอบแทนสังคม จัดโครงการ “AIA สร้างรอยยิ้ม” พุ่งเป้าช่วยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เหตุผู้ป่วยโรคนี้ เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจ ทั้งมีสถิติผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ พบในเด็กเกิดใหม่เป็นโรคนี้สูงถึง 1.62 คนต่อเด็กเกิดใหม่ 1,000 เอไอเอวางกรอบช่วยเหลือผ่าตัดศัลยกรรมให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ขอนแก่นและใกล้เคียงอีก 80 คน จากที่เคยช่วยเหลือผ่าตัดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 1,072 คน

วันนี้ (19 ส.ค.) ศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการพระราชทานตะวันฉาย ร่วมกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนช แอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) จัดกิจกรรมแถลงข่าว โครงการ “เอไอเอสร้างรอยยิ้ม” ณ ห้องประชุมศิษย์เก่า แพทย์ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยมีผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งเป็นเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้มาแต่กำเนิด พร้อมด้วยผู้ปกครอง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมด้วย ผศ.นพ.วินัย ตันติยาสวัสดิกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แพทย์ พยาบาล ผู้บริหารบริษัท เอไอเอ และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

สำหรับโครงการ เอไอเอสร้างรอยยิ้ม เป็นโครงการที่ 3 องค์กรร่วมกันดำเนินการ ทั้งนี้เอไอเอสนับสนุนการผ่าตัดโดยไม่คิดมูลค่าแก่ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือผู้ที่มีแผลเป็นทางใบหน้าหรือร่งกายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งเงินสนับสนุนครอบคลุมทั้งค่าผ่าตัด ค่าเดินทางเพื่อเข้ามารับการรักษา ค่าตรวจวินิจฉัย ค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทางมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลหลังการผ่าตัด โดยปีนี้ให้การช่วยเหลือจำนวน 80 คน

ผศ.นพ.วินัย ตันติยาสวัสดิกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจ และจิดศรัทธาที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการผ่าตัดรักษามากที่สุด จากตั้งใจนี้เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีแรงกายและแรงใจในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องมีฐานะยากจนและการทำศัลยกรรมต้องไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ด้านเสริมความงาม เรียงลำดับตามความจำเป็นและความเร่งด่วนของการผ่าตัดเป็นหลัก

นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด ประเทศไทย (เอไอเอ ประเทศไทย) กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ มาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ป่วยปีละไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายช่วยเหลือผู้ป่วยปีละไม่ต่ำกว่า 240 คน และดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 ปีแล้ว รวมยอดช่วยเหลือผู้ป่วยกว่า 1,072 คน

และวันนี้ เอไอเอได้ร่วมกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และโรงพยาศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้การช่วยเหลือผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงจำนวน 80 คน รวมยอดช่วยเหลือผู้ป่วยกว่า 1,152 คน


โรคปากแหว่ง เพดานโหว่ เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยและคนในครอบครัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารลำบาก หายใจไม่สะดวก พูดไม่ชัด จึงขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม บางคนกักขังตนเองอยู่ในบ้านไม่ยอมเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน การผ่าตัดใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงสามารถปรับเปลี่ยนให้บุคคลเหล่านี้มีสภาพใบหน้าและร่างกายใกล้เคียงคนปกติ แต่ต่การผ่าตัดต้องทำหลายครั้งและเสียค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยในต่างจังหวัดหลายรายไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ จึงต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ โรคปากแหว่ง เพดานโหว่ เป็นโรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อของริมฝีปากบนและเพดานปากไม่เชื่อมติดกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิดที่พบปบ่อยเป็นอันดับที่ 4 ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สำหรับอุบัติการณ์ในประเทศไทยพบผู้ที่เป็นโรคนี้กว่า 100,000 คนทั่วประเทศ โดยเด็กเกิดใหม่ 1,000 คนจะพบผู้ที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ 1.62 คน

ดังนั้น จะมีผู้พิการทางใบหน้าเพิ่มขึ้นทั้งประเทศปีละประมาณ 2,000 คน ส่วนกรณีเพดานโหว่จะพบ 1 คนใน 2,500 คน สาเหตุหลักยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากพันธุกรรม การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศเป็นพิษ การขาดสารอาหารที่จำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก การได้รับสารเคมีทางผิวหนัง หรือการใช้สารเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์

การผ่าตัดจะดำเนินการโดยศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และวิสัญญีพยาบาล หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยยังต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลและตรวจสุขภาพช่องปากทุก 2 เดือน รวมทั้งต้องมาจัดฟัน เนื่องจากคนที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ โดยส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องเหงือกห่าง หากไม่มีการจัดฟันจะส่งผลให้ผู้ป่วยฟันผุ ฟันสบกันไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาจนสามารถรับประทานอาหารและพูดได้โดยเสียงไม่ออกทางจมูก



นายสุทธิ  รจิตรังสรรค์ รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ประเทศไทย (เอไอเอ ประเทศไทย)
ผศ.นพ.วินัย  ตันติยาสวัสดิกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์
เด็กที่ป่วยเป็นโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งในปีนี้ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 80 คน

กำลังโหลดความคิดเห็น