เชียงราย – อุตฯ เชียงราย เชื่อแผนขนลิกไนต์เขตว้า ประเทศพม่าผ่าน “ม้งเก้าหลัง” เข้าไทย ของกลุ่ม “สระบุรีถ่านหิน-เครืออิตัลไทย” ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากกรณีที่บริษัทสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีมติอนุมัติในการหลักการให้มีการเปิดจุดนำเข้าชั่วคราวที่หมู่บ้านม้งเก้าหลัง ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่ออนุญาตให้บริษัทสระบุรีถ่านหิน จำกัด ในเครืออิตัลไทยนำเข้าถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองเมืองก๊ก เขต จ.เมืองสาด ประเทศพม่า เขตอิทธิพลของกลุ่มชนกลุ่มน้อยว้าแดงได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงถนนภายในประเทศพม่า จากชายแดนหมู่บ้านม้งเก้าหลังไปสู่เหมืองถ่านหินลิกไนซ์เขตเมืองก๊ก ประมาณ 68 กิโลเมตรอย่างต่อเนื่องนั้น
นายเรืองศักดิ์ โฆษะครรชิต อุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า ยังไม่มีหน่วยงานหรือเอกชนรายใดขออนุญาตเปิดกิจการโรงงานเกี่ยวกับถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่เชียงรายอย่างเป็นทางการ แต่ตนก็พอรับทราบมาบ้างว่า มีเอกชนไปขออนุญาตนำเข้าถ่านหินจากพม่าผ่านหมู่บ้านม้งเก้าหลัง รวมทั้งมีด่านศุลกากรแม่สายทำหนังสือถึงสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย เพื่อให้ประชุมหารือกันเกี่ยวกับการที่มีเอกชนขออนุญาตเปิดจุดนำเข้าชั่วคราวเมื่อปลายปี 2551 แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องก็เงียบหายไปไม่มีการประสานงานเพิ่มเติมเข้าไปอีกเลย
แต่ตามหลักการแล้วการนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติ ประเภทถ่านหินจากต่างประเทศถือว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นสินค้าชนิดหนึ่งจึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหากไม่มีการตั้งโรงงานในพื้นที่ เพียงแต่ผ่านพิธีการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามจุดนำเข้าซึ่งในที่นี้ก็คือด่านศุลกากรนั่นเอง ส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างเล็กน้อยกรณีต้องการเข้าไปตรวจสอบตัวอย่างถ่านหินว่ามีการปลอมปนเข้ามาหรือไม่ หรือมีการตั้งโรงงานในพื้นที่หรือไม่ ฯลฯ
หน่วยงานเราพร้อมอยู่แล้วหากมีการนำเข้ามาจริง ดังนั้นจึงขอแจ้งเสียแต่เนิ่นๆ ว่าหากมีการนำเข้าจริงผู้ประกอบควรมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของถ่ายหิน หรือการลักลอบปลอมปนสินค้าประเภทอื่นมาด้วยก็คงไม่มีปัญหาอะไร
“ตามปกติถ่านหินที่ขนส่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ส่วนการฟุ้งกระจายระหว่างการขนส่งก็ไม่ถึงขั้นที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะมีปริมาณที่ไม่มากเหมือนอยู่ที่จุดเผาหรือโรงงานที่มีการเผาไหม้ถ่านหิน ส่วนประเด็นเรื่องของแนวเขตแดนมีปัญหาเรื่องความมั่นคง ปัญหายาเสพติด และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้นั้นเห็นว่าเมื่อไม่มีการเปิดจุดนำเข้าชั่วคราวก็มักจะมีปัญหาเดิมเกิดขึ้นอยู่แล้วแล้ว อย่างไรก็ตามหากมีการนำเข้าจริงเชื่อว่าทุกฝ่ายจะคำนึงถึงปัญหาและป้องกันเอาไว้ก่อน”
ทั้งนี้ การขออนุญาตนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ดังกล่าวไม่ได้เป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.เชียงราย แต่มีมาตั้งแต่ปี 2534 โดยบริษัทแหลมทองลิกไนต์ จำกัด ซึ่งได้มีการนำเข้าถ่านหินลิกไนต์จากเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ผ่านทางแพขนานยนต์ของเรือในแม่น้ำโขงขึ้นฝั่งที่ อ.เชียงของ เพื่อนำไปป้อนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ จ.สระบุรี ทีผ่านมาเคยมีการตั้งโรงแต่งแร่ที่ อ.เชียงของ ด้วย ซึ่งก็พบว่ายังไม่เคยทราบว่าจะมีกระทบใดๆ เลย
นายเรืองศักดิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากมีการนำเข้าผ่านหมู่บ้านม้งเก้าหลังดังกล่าวก็ไม่ได้ประมาทโดยคงต้องดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบใดต่อไป