ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “มท.2” เรียกประชุมผู้ว่าฯ-ผู้การ ตร.ภาคอีสาน 19 จังหวัด รุกสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดทะลักแนวชายแดน ชี้ ประเมินการทำงานของแต่ละจังหวัดทุกเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้า ยอมรับมีการระบาดในหลายพื้นที่ ขณะที่ สสจ.แจกหน้ากากอนามัยให้ผู้เข้าร่วมประชุมป้องกันหวัดใหญ่ 2009
วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด มี นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายอำเภอ, ท้องถิ่นจังหวัด และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 19 จังหวัดอีสาน กว่า 800 คนเข้าร่วมประชุม ครั้งนี้
ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ได้นำหน้ากากอนามัยมาแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อใส่ป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แต่ นายบุญจง ซึ่งได้รับแจกเช่นกันแต่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของยาเสพติดขณะนี้ยังมีการระบาดอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งการประชุมร่วมกันในวันนี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการป้องกันแก้ปัญหายาเสพติด โดยให้ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ในวันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสอดส่องดูแลปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดนจะต้องมีการสอดส่องเข้มข้นมากขึ้น
รัฐบาลมียุทธศาสตร์ 5 รั้ว ในการร่วมมือกันปราบปรามยาเสพติด ซึ่งฝ่ายทหาร โดยกองทัพ และ กอ.รมน.จะดูแลจังหวัดตามแนวชายแดนเรื่องเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดเข้าประเทศ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะดูแลเรื่องสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอยู่
นายบุญจง กล่าวอีกว่า จากรายงานทราบว่า กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดน ส.ป.ป.ลาว เป็นพื้นที่นำเข้าและลำเลียงยาเสพติดสำคัญ ประกอบด้วย จ.หนองคาย, หนองบัวลำภู, เลย, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ และ ยโสธร
สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาด และเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด คือ จ.ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด
ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนด้านกัมพูชา เป็นพื้นที่นำเข้าและลำเลียง ประกอบด้วย จ.สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, นครราชสีมา และ ชัยภูมิ
นายบุญจง กล่าวต่อว่า จะนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปเป็นฐานในการพิจารณาประเมินผล การดำเนินงานในแต่ละเดือนว่าแต่ละจังหวัดมีความคืบหน้า หรือมีผลการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เช่น จังหวัดชายแดน มีแนวทางในการสกัดกั้นการนำเข้าและมีแนวทางการป้องกันปัญหานี้ในพื้นที่อย่างไร จังหวัดที่มีปัญหายาเสพติดเบาบางดำเนินการอย่างไร จากตัวเลขผลการปราบปรามจับกุมหรือบำบัดรักษาที่ปรากฏในวันนี้จะมีความแตกต่างจากผลการดำเนินงานในรอบเดือนข้างหน้าอย่างไรบ้าง
“ส่วนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจะได้รวบรวมไปพิจารณานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทราบต่อไป” นายบุญจง กล่าว