xs
xsm
sm
md
lg

อสม.ต.เวียงคำ อุดรฯ หัวใสใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตหน้ากากป้องกันหวัดใหญ่ขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแม่บ้าน อสม. ตำบลเวียงคำ ได้นำหน้ากากอนามัยที่ทำขึ้นเองมาวางจำหน่ายและสาธิตในการผลิตด้วยงานเย็บผ้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้  ส่งผลให้ยอดการผลิตหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอกับความต้องการ
อุดรธานี- กลุ่มแม่บ้าน อสม.ตำบลเวียงคำ อุดรฯ หัวใส ผลิตหน้ากากอนามัยราคาถูกส่งขายท่ามกลางสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 กำลังแพร่ระบาด เผย อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตจากวัตถุดิบที่หาซื้อได้ง่ายราคาถูกในตลาด ขายเพียง 10 บาท/ผืน ขณะที่ต้นทุนไม่เกิน 7 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.ค.) ที่ งานการตลาดนัดสุขภาพ สถานีอนามัยบ้านทองอินทร์ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี กลุ่มแม่บ้าน อสม.ตำบลเวียงคำ ได้นำหน้ากากอนามัยที่ทำขึ้นเองมาวางจำหน่ายและสาธิตในการผลิตด้วยงานเย็บผ้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้ ส่งผลให้ยอดการผลิตหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอกับความต้องการ

จากกระแสตอบรับงานเย็บหน้ากากอนามัยอย่างท่วมท้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มแม่ อสม.แห่งนี้ ได้เกิดแนวความคิดที่จะผลิตขึ้นมาวางจำหน่ายในท้องตลาดราคาถูก

นางจำนงค์ เทศมี อายุ 44 ปี บ.71 ม.6 ต.เวียงคำ อ.กุมภวาปี อสม.ของตำบลเวียงคำ เปิดเผยว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ทางอนามัยเวียงคำ ได้นำหน้ากากอนามัย มาแจกให้กับชาวบ้านในชุมชนแต่มีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้เกิดความคิดในการทำหน้ากากอนามัยขึ้นมาใช้เอง จึงได้รวมกลุ่มแม่บ้านของ อสม.จำนวน 10 คน และนำเงินทุนของ อสม.จำนวน 10,000 บาท มาเป็นทุนในการซื้อวัตถุดิบทำการผลิต

สำหรับวัตถุดิบนั้นได้เลือกใช้เสื้อป่านที่หาซื้อได้จากท้องตลาดในราคาเมตรละ 40 บาท มาทำหน้ากากสามารถผลิตได้ 100 อัน และยางยืดนั้นซื้อมาเป็นแพ็กๆ ละ 25 บาท ทำหน้ากากได้จำนวน 29 อัน ซึ่งได้ตัดผ้าให้มีขนาดกว้าง 6 นิ้วครึ่ง ยาว 10 นิ้วครึ่ง จำนวน 2 ชิ้น แล้วทำการเย็บประกบใส่กันจากนั้นถึงเย็บยางยืดใส่ทั้ง 2 ข้าง แล้วก็นำไปรีดก่อนที่จะนำไปจำหน่ายในราคาอันละ 10 บาท ซึ่งต้นทุนในการผลิตขึ้นนั้นเพียงแค่ราคา 7 บาท เท่านั้นเอง

นางจำนง กล่าวอีกว่า ในแต่ละวันสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้จำนวน 200 อัน ซึ่งทำให้มีเพียงพอไว้จำหน่ายให้แก่ชาวบ้าน ในเขตพื้นที่อำเภอกุมภวาปี ซึ่งมีสถานีอนามัยอยู่จำนวน 17 แห่ง และ ศูนย์สุขภาพชุมชน 2 แห่ง โดยมีประชากรทั้งหมดจำนวน 125,504 คน นอกจากนี้ ก็ได้มีกลุ่มแม่บ้าน อสม.อีกหลายแห่ง มาศึกษาดูงานในการผลิตหน้ากากอนามัยขึ้นมา ทำให้มีการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมาในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันในตอนนี้

ส่วนหน้ากากอนามัยที่ทำขึ้นเอง สามารถนำไปซักแล้วกลับเอามาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินหลายครั้งในการซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

กำลังโหลดความคิดเห็น