ศูนย์ข่าวศรีราชา -อำเภอสัตหีบ ร่วมกับเทศบาลเมืองสัตหีบ สภาวัฒนธรรมอำเภอสัตหีบ และหน่วยงาน สถานศึกษา กว่า 50 หน่วยงาน จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย
วันนี้ (3 ก.ค.) นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอสัตหีบ ได้ร่วมกับ นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสัตหีบ สภาวัฒนธรรมอำเภอสัตหีบ และหน่วยงานงาน สถานศึกษา ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ รวม 59 หน่วยงาน จัดงานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมไทย แห่เทียนเข้าพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ ณ บริเวณลานวัดสัตหีบ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ในวันนี้ หน่วยงานทั้ง 59 หน่วยงาน ได้นำเทียนเข้าพรรษาที่ประดับประดาสวยสดงดงาม มาร่วมขบวนแห่ โดยขบวนได้เคลื่อนไปโดยรอบตลาดสัตหีบ เพื่อโชว์ความงดงามของเทียนเข้าพรรษาในปีนี้ อันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ก่อนที่ทุกหน่วยงานจะนำเทียนเข้าพรรษา ไปมอบถวายให้กับวัดต่างๆ ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ และข้างเคียง
สำหรับประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานบุญประเพณีที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อเป็นการเชิดชู พระพุทธศาสนาส่งเสริมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นในวันเพ็ญเดือน 8 วันอาสาฬหบูชา หรือวัน เข้าพรรษาซึ่งเป็นวันกำหนดให้พระภิกษุทุกรูปทั้งที่บวชใหม่และบวชมาหลายพรรษาต้องอยู่ประจำ ในวัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ซึ่งกำหนดเป็น 2 ระยะ คือพรรษาแรก หรือ “ปุริมพรรษา” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และพรรษา หลัง หรือ “ปัจฉิมพรรษา” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 แต่ถ้า ปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน ในปีนั้นให้ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลังเป็นวันเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนจะทำบุญในตอนเช้า ด้วยการถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อที่พระภิกษุสงฆ์จะนำไปประกอบพิธีทางพุทธศาสนาในโบสถ์ โดยเฉพาะการถวายเทียนซึ่งชาวพุทธถือว่าการทำบุญ ด้วยเทียน ซึ่งให้ความสว่างแก่สาวกของพระพุทธองค์ ให้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมจะทำให้ชีวิตของผู้ถวาย รุ่งโรจน์เช่นเดียวกับแสงสว่างของเปลวเทียน
ประเพณีแห่เทียนจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว ประเทศชาวพุทธ ทั้งหลายต่างได้พยายามตกแต่ง หรือแกะสลักเทียนของตนให้งดงาม จนเกิดการประกวด “เทียนพรรษา” หรือ “ต้นเทียน” กันขึ้น โดยเทียนที่แกะสลักมักจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนา หรือพุทธประวัตินอกจากการประกวดขบวนแห่และริ้วขบวนที่แห่เทียนไปรอบเมือง ก่อนจะนำไป ถวายเป็นพุทธบูชาตามอุโบสถของวัดวาอารามต่างๆ เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้จุดบูชาตลอดระยะเวลา 3 เดือน