ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมแพทย์ทหารเรือ ตรวจเยี่ยมแผนกแพทย์ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ ให้กำลังใจแพทย์หญิงหายป่วย พยาบาล และเจ้าหน้าที่สายการแพทย์ วางมาตรการเข้มล้อมกรอบการแพร่ระบาดไข้หวัดมรณะ 2009 สถานการณ์คลี่คลายผู้ป่วยไม่ไอ ไข้ไม่มี เตรียมส่งกลับกองร้อยชุดแรกกว่า 100 คน
วันนี้ (3 ก.ค.) พล.ร.ท.สุริยา ณ นคร เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ พล.ร.ต.ชูชีพ ช้างเสวก รองเจ้ากรมแพทย์ พล.ร.ต.(หญิง)มยุรี สัมพันธวิวัฒน์ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ พล.ร.ต.ชุมพล เทียมชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ น.อ.ธีรนิติ์ ฤกษะสาร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมแผนกแพทย์ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาหาเรือ ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ มี น.อ.นพดล สุภากร ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ น.อ.วิรัตน์ สมจิตร รองผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่ พญ.ธนสินี เทียมทัน หัวหน้าแผนกแพทย์ให้การต้อนรับ และรายงานผลการปฏิบัติตามสายการแพทย์ ตั้งแต่ตรวจสุขภาพ ตรวจโรค วิเคราะห์โรค จนถึงส่งตัวให้โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งมีภารกิจดูแลรับผิดชอบในเรื่องของการควบคุมโรคติดต่อ
ผู้บังคับการศูนย์ฝึกทหารใหม่เปิดเผยว่า การที่เจ้ากรมแพทย์พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมในวันนี้ ท่านได้มีนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องอาคารพักผู้ป่วยที่ต้องสามารถรองรับผู้ป่วยได้ครั้งและจำนวนมากๆ สะอาด ถูกสุขอนามัย การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นเรื่องสำคัญสำหรับวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ที่ต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร รู้เท่าทันความเคลื่อนไหว ความคืบหน้า และวิวัฒนาการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะสามารถป้องกันตัวเอง ตรวจรักษาผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน พญ.ธนสินี เทียมทัน หัวหน้าแผนกแพทย์ที่ป่วยเป็นไข้หวัด 2009 ขณะตรวจรักษาสุขภาพพลทหารที่เข้ามาตรวจอาการไข้หวัด จนต้องทำให้ตัวเองต้องล้มป่วยลง
ส่วนทางด้าน พล.ร.ท.สุริยา ณ นคร เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เปิดเผยว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ได้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการควบคุม ดูแล คัดแยกผู้ป่วยออกมาจากคนปกติให้หมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไม่รู้จบ ขณะนี้ได้รับทราบปัญหาในการมีขีดจำกัดในตัวเอง โดยเฉพาะกำลังพลสายแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ยังไม่เพียงพอหรือสมดุลกับยอดกำลังพล เพราะข้าราชการ พลทหาร ครอบครัว ที่พักอยู่ในค่ายทหารแห่งนี้กว่า 6,000 คน เมื่อเกิดเหตุที่มีผู้ป่วยจำนวนมากก่อให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติภารกิจอีกด้วย