เชียงราย – ผู้ว่าฯ เชียงรายให้สัญญาต่อหน้านักธุรกิจทั่วเมืองพ่อขุนฯ ทำเชียงรายไร้คนจนให้ได้ใน 1 ปีต่อจากนี้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 พันบาท/คน/ปี ที่สำรวจพบมีอยู่ 4 พันคนเท่านั้น วางแผนส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจเห็นผลเร็ว พร้อมเดินหน้าทำตลาดให้เสร็จสรรพ เชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องได้
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (18 มิ.ย.) หอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้จัดให้มีพิธีทำบุญสำนักงานหอการค้าเนื่องในโอกาสจัดตั้งครบรอบ 42 ปี ณ สำนักงานเลขที่ 153 หมู่ 6 ต.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีอดีตประธานหอการค้าและกรรมการเข้าร่วมครบครัน ในงานยังมีการเชิญนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย บรรยายเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ จ.เชียงราย ด้วย
นายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดเชียงรายก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 นับเป็นหอการค้าต่างจังหวัดแห่งที่สองของประเทศไทย เดิมใช้อาคารเศรษฐกิจการ ถนนธนาลัย เป็นสถานที่ทำการต่อมาในยุคที่ นายยงยุทธ อินทรวิทักษ์ เป็นประธานหอการค้า ได้ก่อตั้งโรงเรียนพาณิชยการเชียงราย จึงใช้อาคารภายในโรงเรียนเป็นสำนักงาน กระทั่งต่อมาย้ายมาอยู่ที่เลขที่ 153 หมู่ 6 ต.สันทราย ดังกล่าว
ที่ผ่านมามีประธานหอการค้าแล้วจำนวน 12 คน และมีผลงานต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย จีน สปป.ลาว และพม่า การติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน การผลักดันโครงการรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย การผลักดันให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในเชียงราย ฯลฯ
ด้าน นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย บรรยายต่อนักธุรกิจในหอการค้าจังหวัดเชียงราย ซึ่งเข้าร่วมประมาณ 100 คน ว่าจังหวัดมีนโยบายในการพัฒนาจังหวัดเอาไว้ 5 ด้านหรือเรียกว่า 5 นิ้ว ได้แก่การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาการค้าชายแดน การพัฒนาโครงการในพระราชดำริ การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาด้านการอนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม
ส่วนโครงการแก้ไขเร่งด่วนก็มีอยู่ 5 ด้านเรียกว่า 5 จ.ได้แก่ จ.จน คือแก้ไขปัญหาความยากจน จ.จ๋อย คือแก้ไขปัญหาการขาดแคลน จ.จ๋อง คือแก้ไขปัญหาการขาดการศึกษา จ.โจร คือแก้ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมในทุกด้าน และ จ.เจ็บ คือแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
นายสุเมธกล่าวว่า ปัจจุบันเชียงรายมีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้ต่อหัวต่อปีประมาณ 44,505 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอสมควร อย่างไรก็ตามยังมีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อปี อีกประมาณ 4,000 คน ดังนั้น ตนจะนำนโยบายต่างๆ ทั้งหมดเข้าพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนทั้ง 4,000 คนดังกล่าวเพื่อให้พ้นจากความยากจนให้หมด โดยตั้งเป้าว่าจะให้หายยากจนภายในปี 2553 หรือภายใน 1 ปีนับจากนี้ ซึ่งหากเศรษฐกิจดีก็จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจทั่วไปด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการดำเนินการในรายละเอียดนั้นตนขอยกตัวอย่างเรื่องการเกษตร โดยจะมุ่งส่งเสริมพืชเกษตรที่เกษตรกรรู้จักเป็นอย่างดี มีตลาดที่ชัดเจน และใช้ระยะเวลาสนับสนุนสั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทันที ซึ่งวิเคราะห์แล้วมีพืชที่จะสนับสนุนอยู่จำนวน 5 ชนิด คือ ผลไม้หลักๆ ผัก ข้าว กาแฟ และชา โดยมีตัวอย่างการดำเนินการที่ผ่านมาคือ ลิ้นจี่ ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 18,000 ตัน ซึ่งจังหวัดได้กระจายให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ รับไปส่งที่ตลาดต่างจังหวัดและส่งออกกว่า 15,000 ตัน ที่เหลือก็จัดงานส่งเสริมการขายและรับประทานภายในจังหวัดจนหมดไปโดยไม่มีการชุมนุมประท้วงของเกษตรกร
สำหรับเรื่องข้าวนาปรังนั้นถือว่าเร่งด่วน เพราะมีผลผลิตออกมากว่า 250,000 ตัน แต่รัฐบาลให้โควตารับซื้อตามโครงการรับจำนำประมาณ 30,000 ตัน จนมีการปิดถนนประท้วงและล่าสุดมีการเจรจาจนขอโควตาเพิ่มได้อีกประมาณ 20,000 ตัน จึงเป็นอันสิ้นสุดปัญหานาปรังในปีนี้ไป ดังนั้นในปี 2553 ตนหวังว่ารัฐบาลจะกำหนดมาตรการที่ชัดเจนว่า จะรับจำนำเหมือนเดิมหรือประกันราคาหรือปล่อยตลาดเสรีดี เพื่อจังหวัดจะได้เข้าไปสนับสนุนได้ทันควัน
ด้านผลผลิตลำไยนั้น จังหวัดได้กำหนดมาตรการไว้แล้วว่าคงจะใช้วิธีการเดียวกับผลผลิตลิ้นจี่ เพราะคาดว่าจะมีผลผลิตออกมามากกว่า 50,000 ตัน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือว่าจะรับซื้อเพียงประมาณ 10,000 ตัน ชดเชยให้กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งการแก้ไขปัญหาคงต้องดูตามสถานการณ์ต่อไป
นายสุเมธกล่าวในตอนท้ายว่า ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นจังหวัดให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพราะเชียงรายมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งตนได้จัดโครงการเที่ยวกับผู้ว่าฯ โดยนำหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ตระเวนท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ล่าสุดไปยัง อ.แม่จัน และเยี่ยมศิลปิน เช่น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นต้น