อุดรธานี-มรภ.อุดรธานี ร่วมกับ ม.ทอมสันริเวอร์ ประเทศแคนาดา เวิร์กชอป“เทคโนโลยีชีวภาพในการทดสอบฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดสมุนไพรไทย” เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านจุลชีววิทยา ให้นักวิจัยไทยนำไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยด้านการสกัดสมุนไพรไทย และเพิ่มศักยภาพด้านการศึกษาและวิจัย ในด้านอื่นๆ ต่อไป
ณ ศูนย์ฝึกประสบการวิชาชีพอุดรราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดร.ณัติเทพ พิทักษานุรัตน์ อธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เทคโนโลยีชีวภาพในการทดสอบฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดสมุนไพรไทย”
ดร.สมฤดี ศรีทับทิม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมายาวนาน แต่ยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาด้านเภสัชภัณฑ์สมัยใหม่ ดังนั้นนักวิจัยท้องถิ่น จึงไม่ควรละเลยประโยชน์ของสมุนไพรไทย และหันมาศึกษาการใช้เป็นยารักษาโรคอย่างจริงจัง คณะวิจัยสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ศึกษาวิจัยพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยมีการเก็บบันทึกภูมิปัญญาชาวบ้าน ควบคู่ไปกับการจำแนกสารเคมีหลักๆ ในพืชท้องถิ่นที่มีคุณสมบัติเป็นยา จากการวิจัยในครั้งนี้ได้ทดสอบผลกระทบของสารสกัดจากพืชในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “การทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (bioactivity test)” เพื่อทดสอบการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ของสารสกัดในพืช แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยที่เข้าร่วมวิจัย ยังมีความรู้และทักษะด้านจุลชีววิทยาค่อนข้างจำกัดฃ
ซึ่งปัจจุบันคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้ด้านจุลชีววิทยาที่สกัดจากสมุนไพรในท้องถิ่น โดยส่งสารสกัดจากพืชสมุนไพรไปทดสอบที่สถาบันอื่นๆ ในกรุงเทพ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านสมุนไพร
ที่นอกจากจะช่วยงานวิจัยเกี่ยวกับสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในสมุนไพรแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางด้านการเรียนสำหรับนักศึกษาทางเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยตรง
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการจัดอบรมระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2552
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิจัย ทั้งจากภาครัฐ สถาบันวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม คณาจารย์ นักเรียนและนักศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ในประเทศไทย รวม 80 คน
โดยมีวิทยากรจากภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยทอมสันริเวอร์ ประเทศแคนาดา ผศ.ดร.เนาวรัตน์ ชีพธรรม นักวิชาชีพไทยในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านจุลชีววิทยา และเป็นผู้จัดการและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการค้นพบการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ พร้อมด้วยคณะศาสตราจารย์จากประเทศแคนาดา มาถ่ายทอดความรู้สู่นักวิจัยไทย