xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งเป้าปั้นโรงพยาบาลตำบลนับหมื่นแห่งทั่วประเทศ แก้ปัญหาคนไข้ล้น-แพทย์ไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – สาธารณสุขเร่งสางปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล แพทย์ไม่พอ เตรียมดึงพยาบาลเข้าประจำสถานีอนามัยตำบลละ 3 คน ก่อนปั้นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลทั้งหมดเกือบ 10,000 แห่งทั่วประเทศ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (8 มิ.ย.) นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.กระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมสัมมนา เรื่องการพัฒนาระบบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและระบบส่งต่อผู้ป่วย ครั้งที่ 4 (เขต 15-18) ที่โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีแพทย์และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน

นายวิทยากล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์และพยาบาล ขณะที่การพัฒนาสาธารณสุขก็ยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยผู้เป็นข้าราชการมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในปีที่ผ่านมาถึง 5 หมื่นล้านบาท และปี 2552 นี้มากถึง 7 หมื่นล้านบาท มีผู้ทำประกันสังคมและมีประชาชนทั่วไปที่ใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้ทุกคนได้รับการดูแลรักษาฟรี

นายวิทยากล่าวว่า ขณะที่ไทยเรามีระบบสวัสดิการดังกล่าวดีขึ้น แต่กลับมีภาวะขาดแคลนแพทย์และพยาบาล ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น คนพากันไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือประจำอำเภอและจังหวัดกันหมด เกิดกรณีการใช้สิทธิในการฟ้องร้องแพทย์ผู้รักษากรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้นกับผู้ป่วย ฯลฯ ส่งผลให้โรงพยาบาลปฏิเสธรับการรักษารายที่เจ็บป่วยหนัก ขณะที่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีเตียงผู้ป่วย 700-800 เตียงแต่มีผู้ป่วยมากกว่าอัตราปกติ 100% โรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา มีจำนวน 1,000 เตียงแต่มีผู้ป่วยนอนจริง 1,700 ราย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ตามพื้นที่ชายแดนเกิดปัญหาผู้ป่วยชาวต่างด้าวเข้าไปใช้บริการกันมาก บางแห่งเกิดปัญหาคนไทยประท้วงเพราะเสียสิทธิ์การนอนรักษาพยาบาลครั้นโรงพยาบาลชายแดนจะให้ตามคำขอก็ไปขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ทำกับชาวต่างด้าวอีก


นายวิทยากล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่โรงพยาบาลในประเทศไทยไม่ได้มีการขยายการให้บริการมาอย่างยาวนาน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องแก้ไขปัญหาตามแผนเดิมที่ทางสำนักปลัดกระทรวงได้คิดกันเอาไว้แล้ว คือการส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1 ล้านคนทั่วประเทศได้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น มีข้อมูลว่ามีผู้ตั้งครรภ์ปีละ 800,000-900,000 คน และมีคนทำแท้งโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจกว่า 200,000 คน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ อสม.เป็นผู้สำรวจและจัดทำข้อมูลผู้ตั้งครรภ์ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการฝากครรภ์และดูแลจนคลอดบุตรคาดว่าจะลดปัญหาการแท้งได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันการจัดตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขึ้นในทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในการเข้าถึงประชาชนนอกเหนือไปจากโรงพยาบาลระดับอำเภอและจังหวัดในปัจจบัน โดยจะพัฒนาสถานีอนามัยประจำตำบลทุกแห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดังกล่าว เพราะปัจจุบันสถานีอนามัยมีถึงประมาณ 9,300 แห่งทั่วประเทศซึ่งมากกว่าจำนวนตำบลเสียอีก

สำหรับวิธีการคือ การรับสมัครพยาบาลจากโรงพยาบาลประจำอำเภอไปประจำที่สถานีอนามัยอย่างน้อยตำบลละ 3 คน มีการสอบถามอาการจากแพทย์ที่โรงพยาบาลผ่านทางระบบโทรทัศน์วงจรปิด มีการจัดส่งยาไปยังสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อลดภาระการไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยที่เป็นขาประจำที่ต้องไปรับยาประจำอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน ฯลฯ

หากผู้ป่วยรายใดอาการหนักก็สามารถเรียกรถพยาบาลจากโรงพยาบาลอำเภอไปรับ เพื่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยตรง พร้อมบริการรับส่งเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ยังไม่มีโครงการซื้อรับใหม่ เพราะอาจไม่คุ้มค่าและเสียต้นทุนมากหากนำไปประจำตามตำบลต่างๆ แต่จะใช้รถโรงพยาบาลอำเภอแทน

โครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2552 นี้เป็นต้นไปโดยปัจจุบันจะเริ่มขออาสมัครพยาบาลที่ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอเพื่อให้ไปประจำที่สถานีอนามัยในแต่ละตำบลโดยจะให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยเบื้องต้นคงไม่ได้ครบ 3 คนต่อตำบลแต่อย่างน้อยๆ ต้องได้พยาบาล 1 คนเพื่อนำร่องก่อน ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำให้ 1,000 ตำบลในปีนี้ โดยทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาทไว้ดำเนินการเบื้องต้นแล้ว

“ปัญหายังมีอยู่บ้าง เช่น โรงพยาบาลคงไม่ยอมปล่อยพยาบาลให้ไปประจำอยู่ตามตำบลเพราะงานในโรงพยาบาลก็มาก แต่คงมีทางออกโดยเฉพาะพยาบาลที่มีอายุมากแล้วอาจอยากออกไปทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ ไม่ต้องเข้าเวรเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป เป็นต้น ขณะเดียวกันมีปัญหาเรื่องมีจำนวนประมาณ 60 อำเภอไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอเพราะบางแห่งพึ่งยกฐานะมาจากการเป็นกิ่งอำเภอ แต่เรื่องนี้ได้เตรียมการแก้ไขแล้วโดยจะมีการก่อสร้างเพิ่มในปี 2553 จำนวน 24 อำเภอในอนาคตคงจะครบทุกแห่งต่อไป” นายวิทยา กล่าวและว่า

แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะประสบปัญหาเรื่องงบประมาณมีน้อยและต้องไปหากู้ยืมเงินจากต่างประเทศแต่ยืนยันว่าในส่วนของงานด้านสาธารณสุขไม่มีการปรับลด และกลับจะเพิ่มขึ้นเสียอีกเพราะเรื่องสุขภาพปรับลดกันไม่ได้ เช่น เพิ่มค่ารักษาประชาชนจากหัวละ 2,204 บาท เป็น 2,406 บาท เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น