xs
xsm
sm
md
lg

PB แอร์ดีเดย์เปิดบินกรุงเทพฯ-แม่สอด 5 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาก- PB แอร์ เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-แม่สอด 5 มิถุนายนนี้ ภาครัฐ-เอกชน หวังช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน เมืองชายแดนตะวันตก

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากกัปตันพิสุทธิ์ ฐิตะภาส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ/C00 ของสายการบิน PB แอร์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของ PB แอร์ ได้มีมติอนุมัติให้เปิดเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-แม่สอด และแม่สอด-กรุงเทพฯ ทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ โดยจะออกจากรุงเทพฯเวลา 07.00-08.30 น.และออกจากแม่สอด เวลา 09.00-10.30 น. และได้กำหนดเที่ยวบินเที่ยวแรกซึ่งเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2552 ออกจากกรุงเทพเวลา 07.00 น. ราคาเที่ยวบินละ 2,900 บาท ใช้เครื่อง ART 72 ขนาด 70 ที่นั่ง บินให้บริการ

เขาบอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เที่ยวบินแม่สอด-กรุงเทพฯ ได้หยุดบิน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการติดต่อในกระบวนการธุรกิจทั้งการค้า-การลงทุนและการท่องเที่ยว ตามแนวชายแดน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทสายการบินต่างๆ เพื่อทำการเปิดเที่ยวบินใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

หอการค้าตากได้มีการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมตาก-สายการบิน PB แอร์และสมาคมการท่องเที่ยวภาคเหนือรวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เปิดเที่ยวบินสายดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ได้มีการประชุมและทำบันทึกข้อตกลงร่วม MOU ของ 4 องค์กรภาคเอกชน คือ หอการค้าตาก สภาอุตสาหกรรมตาก สายการบิน PB แอร์ และสมาคมการท่องเที่ยว 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมสนับสนุน การบินเที่ยวบินกรุงเทพฯ-แม่สอด และในที่สุดคณะกรรมการสายการบิน PB แอร์ ได้แจ้งมายังหอการค้าตากเพื่อกำหนดการเปิดเที่ยวบินดังกล่าว

นอกจากนี้ กัปตันพิสุทธิ์ ฐิตะภาส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ/C00 ของสายการบิน PB แอร์ ยังได้ทำหนังสือแจ้งให้หอการค้าตากทราบว่า ในการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ที่หอการค้าจังหวัดตากจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2552 นั้น ทางสายการบิน PB แอร์ จะถือโอกาสส่งเสริมการเดินทางและส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงลดราคาเที่ยวบินเป็นพิเศษในการเปิดเส้นทางการบิน โดยคิดราคาเที่ยวบินละ 2,000 บาท ไป-กลับ 4,000 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่า ประตูการค้าสู่อันดามัน-พม่า-อินเดีย-ตะวันออกกลางและยุโรป เป็นเส้นทางสายหลักของเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก อีสเวสต์ อีโคโนมิก คอริดอร์ การเปิดเที่ยวบินจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาระบบเส้นทางคมนาคมทางอากาศและกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านการติอต่อ ทางการค้าระหว่างคู่ค้าและการลงทุนชายแดน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่สะดวก รวดเร็ว และทันสถานการณ์ เป็นการกู้เศรษฐกิจที่ตกต่ำแนวทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น