กาฬสินธุ์ - พม.เมืองน้ำดำลั่นเตรียมแจ้งความเอาผิดแก๊งตุ๋นศูนย์ชุมชน แฉเป็นกลุ่มนักรณรงค์ อสม. แต่อาศัยช่องว่างการเบิกจ่าย อ้างเป็นเด็กนายหลอกชาวบ้าน จี้ตำรวจเอาผิดให้ถึงที่สุด
นางอัจฉรา พุ่มมณีกร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า กรณีปัญหาการร้องทุกข์จาก ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน หรือ ศพค. หลายอำเภอ เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินคืนจาก ศพค.กาฬสินธุ์ ที่ไปเกี่ยวพันกับผู้นำ อสม.เข้าไปเรียกเก็บเงินจากประธานศูนย์ฯ โดยอ้างเป็นค่าวิ่งเต้นและจัดทำป้ายโครงการ ที่เดือดร้อนไปทั่วทั้งจังหวัด เนื่องจากเงินที่ถูกหักไปเฉลี่ยขั้นต่ำศูนย์ละ 2 พันบาทจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
นางอัจฉรากล่าวว่า ปัญหานี้หลังจากที่ได้รับการร้องทุกข์ผ่านเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบรวมถึงไปสอบถามและทำบันทึกถึง นายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้รับทราบแล้ว ซึ่งขณะนี้เนื่องจากพฤติกรรมที่นอกจากจะเป็นการเบียดบังเอาประโยชน์จากชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรมและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัด ยังได้สั่งการให้ พม.กาฬสินธุ์ พร้อมเอกสารให้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ในส่วนของประธานศูนย์ในแต่ละแห่งก็สามารถที่จะไปแจ้งความได้เช่นกัน
ทั้งนี้ นางอัจฉรา เปิดเผยว่า ตนเพิ่งจะย้ายมาอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 แล้วก็เข้ามารับรู้รับทราบกับปัญหานี้ และได้พยายามที่จะสืบค้นจนทำให้รู้แล้ว่า พฤติกรรมของบุคคลที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ มาจากกลุ่มของ อสม.ที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธาน อสม.ที่ทราบว่าขณะนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว กับลูกทีม 2-3 คนที่มีหน้าที่เข้าไปทำการเก็บเงินที่อ้างว่าเป็นการเก็บให้ผู้บริหารท้องถิ่นบ้างให้เจ้าหน้าที่ พม.บ้าง
“เรื่องนี้ในส่วนของ พม.กาฬสินธุ์ ขอยืนยันว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ไม่มีความคิดที่จะไปเอาคืนเพราะเป็นเงินที่เกิดจากความต้องการในชุมชน การใช้จ่ายให้ไปก็เป็นไปตามโครงการในแต่ละศูนย์”
พม.กาฬสินธุ์ ย้ำอีกว่า พฤติกรรมนี้เป็นกลุ่มผู้นำบางคนของ อสม.ได้อาศัยช่องว่างเรียกเก็บจริงจนทำให้การบริหารภายในศูนย์ฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงฯ ที่ต้องการทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในครอบครัวตามยุทธศาสตร์ของ สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว และทราบว่ามีปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2548 ที่มีมูลค่าความเสียหายเกือบ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ พม.กาฬสินธุ์ จะทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์ดำเนินการแจ้งความให้ตำรวจ ทำการสอบสวนและเอาผิดให้ถึงที่สุด ในส่วนของ ศูนย์ชุมชนฯ ก็ยังคงดำเนินการต่อไปแต่จะต้องเกิดขึ้นอย่างรัดกุม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
สำหรับปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการร้องเรียนจากประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนหลายแห่งซึ่งศูนย์ทั้งจังหวัดมี 167 แห่ง โดยแต่ละศูนย์จะได้รับเงินสนับสนุนปีละ 1 หมื่นบาท หรือ 1,670,000 บาท ในแต่ละปี แต่กลับถูกอดีต ประธาน อสม.กาฬสินธุ์ และเครือข่าย เรียกเก็บเงินคืนจากศูนย์ฯ อ้างเป็นค่าวิ่งเต้นถึงแห่งละ 2 พัน บางแห่ง 4 พัน
โดยอ้างว่าหากไม่จ่ายจะไม่ได้รับอีกในปีต่อไป ซึ่งได้สร้างความเสียหาย ทั้งชื่อเสียงของ พม.กาฬสินธุ์ และส่งผลให้การทำงานไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์