ศรีสะเกษ - ม็อบเกษตรกรศรีสะเกษ บุกร้อง “ส.ป.ก.” ยัดเยียดหนี้รายละ 2 หมื่น จนท.รัฐรวมหัวนายทุนหลอกฮุบเงินกู้ปรับพื้นที่ไร่นา เผยเซ็นสัญญากู้ 2 หมื่น ปรับปรุงที่ไร่นาจริงไม่กี่พัน ซ้ำร้ายก่อนเซ็นบอกไม่มีดอกเบี้ยแต่เรียกเก็บรวมทั้งต้นทั้งดอกบาน คาดถูกหลอกอื้อกว่าหมื่นคน ขณะที่ปฏิรูปที่ดินศรีสะเกษเต้นสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและหาทางช่วยเหลือเกษตรกรด่วน
ช่วงบ่ายวันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มเกษตรในนาม กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย จาก อ.กันทลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ประมาณ 200 คน เดินทางมาชุมนุมเรียกร้อง กรณีถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ หลอกให้เซ็นสัญญาเงินกู้จำนวนรายละ 2 หมื่น เพื่อปรับปรุงพื้นที่ไร่นา
โดยสัญญากู้เงินดังกล่าวเกษตรกรผู้กู้จะไม่ได้รับเงินสด แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเป็นผู้ติดต่อผู้รับเหมามาทำการปรับปรุงพื้นที่ไร่นาให้เองในวงเงินค่าจ้าง 2 หมื่นบาท ตามจำนวนสัญญาเงินกู้ แต่ปรากฏว่า พื้นที่ไร่นาถูกปรับปรุงเพียงเล็กน้อยไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่กู้ไปและมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายปีเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เดิมทีบอกว่าเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย จึงได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมดังกล่าว
นายรณชิต ทุ่มโมง ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย เขตงานพนมดงรัก จ.ศรีสะเกษ แกนนำ กล่าวว่า วันนี้พาพี่น้องเกษตรกรจาก 5 ตำบลประกอบด้วย ต.ภูผาหมอก ต.โนนสำราญ ต.เสาธงชัย ต.ขนุน และ ต.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่มีพี่น้องทั้งหมดจำนวน 735 ราย ถูกสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมมือกับนายทุนผู้รับเหมายัดเยียดหนี้สินให้รายละ 20,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2547 ได้หลอกล่อให้ทำสัญญากู้เงินกับ ส.ป.ก.เพื่อทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ทำกิน โดยที่เกษตรกรไม่ได้รับเป็นเงินสด แต่ทางเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จะเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาไปปรับพื้นที่ไร่นาให้กับเกษตรกรเอง หลังจากรับฟังรายละเอียดโครงการแล้วเห็นว่าเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย จึงได้หลงเซ็นสัญญาเงินกู้ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
นายรณชิต กล่าวต่อว่า หลังจากที่ทำสัญญาเงินกู้จำนวน 2 หมื่นบาทนี้แล้ว ปรากฏว่า บางคนมีที่ทำกิน 10 ไร่ ก็ปรับพื้นที่ให้แค่ 2 ไร่ บางรายถูกดัดแปลงพื้นที่จนแทบไม่เหลือสภาพที่นา จากที่นากลายเป็นที่ไร่ก็มี ทำให้เกษตรกรรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงการดังกล่าวจึงได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในวันนี้
เท่าที่ทราบมามีเกษตรไม่ต่ำกว่าหมื่นราย ที่เป็นหนี้โครงการนี้ รายละ 15,000-20,000 บาท แต่ไม่ได้ออกเรียกร้อง หากดูจากสภาพพื้นที่ที่ถูกปรับปรุงแล้ว ทุกคนเชื่อว่าหากเกษตรกรจ้างปรับปรุงเองจะใช้เงินไม่ถึง 2 หมื่นบาทอย่างแน่นอน เท่ากับว่าเกษตรกรถูกเจ้าหน้าที่หักหัวคิวไป ขณะที่สัญญาเงินกู้ยังเป็น 2 หมื่นบาทถ้วน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.50 บาทต่อปี วันนี้เกษตรกรถูกฟ้องและถูกขู่จะยึดที่ทำกินหากไม่ชำระเงินกู้ 2 หมื่นบาท
“วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกร ต้องถูกฟ้องพร้อมถูกขู่จะยึดที่ทำกิน จากภาระหนี้ที่เขาไม่ได้ก่อขึ้นเอง แต่หลงคารมของเจ้าหน้าที่รัฐ เงินก็ไม่ได้ใช้ ไร่นาก็ถูกทำลายเสียหาย เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ได้กระดูกมาแขวนคออย่างนี้หรือคือชะตากรรมของเกษตรกรไทย” นายรณชิตกล่าว
นางสำลี พุทธพันธ์ เกษตรบ้านขนุน ต.ขนุน อ.กันทรลักษ์ ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เดินทางมาร่วมชุมนุม กล่าวว่า ตนมีที่นา 10 ไร่ คิดว่า เงินกู้ 2 หมื่นจะปรับที่นาให้ตนทั้งหมด แต่ปรับจริงแค่ 1 ไร่ จากการคะเนด้วยสายตาเชื่อว่าค่าจ้างก็ไม่ถึง 2 หมื่นบาทแน่นอน เท่ากับว่า ถูกเจ้าหน้าที่หลอก โดยตอนแรกไม่คิดว่าจะกู้เงินนี้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย มีเท่าไรก็จ่ายเท่านั้นจะไม่มีการบังคับ ซึ่งในวันที่ตัดสินใจทำสัญญานั้น ทางผู้รับเหมากับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ได้นำรถมาพาตนไปกินข้าวร้านอาหาร ด้วยความเกรงใจจึงได้เซ็นสัญญานั้นไป
“พอทำสัญญาเสร็จปรากฏว่า เขาปรับปรุงที่นาให้เราได้ไม่สมกับเงินสองหมื่น ประกอบกับมีหนังสือทวงหนี้มาถึงบ้านพร้อมกับคิดดอกเบี้ยรายปีด้วย จึงรู้สึกตกใจและได้เข้ามาร่วมชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมในวันนี้” นางสำลี กล่าว
นางสำลี กล่วต่อว่า สำหรับข้อเสนอที่มาวันนี้คือต้องการให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินลดยอดเงินกู้จาก 2 หมื่นบาทให้เกษตรกรรับภาระหนี้สินตามความเป็นจริงที่ทาง สปก.ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเป็นราย ๆไป และให้เกษตรกรจ่าย แค่ 50% จากค่าจ้างนั้น เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้จ่ายตัดต้นตัดดอกไปจำนวนมากแล้ว อีกทั้งหนี้สินดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความต้องการของเกษตรกรแต่ถูกเจ้าหน้าที่ของ ส.ป.ก.ยัดเยียดให้
ทางด้าน นายบรรจง ศิริวราวาท ปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งปี 2442 ซึ่งขณะนั้นตนยังไม่ได้มาดำรงตำแหน่งที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่หลังจากรับทราบปัญหาและข้อเรียกร้องของเกษตรกรแล้ว ตนจะได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้และจะทำหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่กรุงเทพฯ เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป