ตาก – ทส.ตากวอนประชาชนงดทำลายป่ารักษาต้นน้ำ พร้อมดำเนิน 3 มาตรการดูแลและส่งเสริมประชาชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ประชาชนไทย-พม่า ร่วมรณรงค์หวงแหนและรักษาน้ำ
เนื่องในวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันน้ำโลก หรือเวิลด์วอเตอร์เดย์ ทำให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำนานาชาติร่วมกันเตือนภัยการขาดแคลนน้ำสะอาดในอนาคต โดยมีรายงานจากสหประชาติ ได้ประเมินว่า ใน ค.ศ.2025 หรือ พ.ศ.2568 ประชากรบนโลก 2 ใน 3 แม้แต่ในชาติร่ำรวยจะอยู่ในภาวะตึงเครียดในการใช้น้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำสะอาดที่มีน้อยลงและกลายเป็นทรัพยากรมีค่ามากขึ้น นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ น่ากังวลไปกว่าเดิม
ทำให้สหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยได้รณรงค์ให้รักษาน้ำและต้นน้ำให้ดีที่สุด และใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับบริเวณชายแดนไทย-พม่า ชาวไทยและพม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และชานเมืองเมียวดี ได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำกลาง แม่น้ำเมยแม่น้ำระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ การสร้างฝายกั้นเพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน-และแก้ไขภัยแล้ง โดยให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำได้รู้จักและหวงแหนรป่าต้นน้ำ
เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก กล่าวว่า พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ที่เดิมมีอยู่ประมาณ 320 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ ร้อยละ 30 และในจังหวัดตากเหลือพื้นที่ป่าประมาณ 7 ล้านไร่ จากเดิม 8 ล้านไร่ หากไม่มีมาตรการหรือกฎหมายมาบังคับ อนาคตพื้นที่ป่าจะลดลงไปมากกว่านี้และจะส่งผลกระทบ ต่อต้นน้ำที่ลดน้อยลงรวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนอีกหลายจังหวัดจำนวนมาก
ทั้งนี้ จังหวัดตากได้ให้ทางอำเภอสำรวจพื้นที่ป่า ป้องกันการบุกรุกและขอความร่วมมือท้องถิ่นช่วยรักษาต้นน้ำ “สายธาร” และป่าไม้ ที่ต้องอยู่ควบคู่กัน ภายใต้ 3 มาตรการที่ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์รักษาทรัพยากรป่าไม้ และต้นน้ำ คือ
1.ต้องหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ โดยวิธีป้องกันตามมาตรการ ต่างๆเช่น พรบ.ป่าไม้,พรบ ป่าสงวน,พรบ. อุทยาน เป็นต้น 2.จัดระบบ การใช้สอยไม้และต้นน้ำ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน3. มาตรการในการฟื้นฟู เช่น การปลูกป่าทดแทนป่าที่ถูกทำลาย และส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่ม เป็นต้น
แต่มาตรการทั้งหมดต้องลดความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด และอีกแนวทางที่สำคัญที่จะนำมาใช้ คือการทำความเข้าใจและแนะนำให้ประชาชนได้น้อมนำแนวคิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือใช้เท่าที่จำเป็นตัดไปก็ต้องปลูกทดแทนหรือปลูกเพิ่มมากกว่าเดิม สร้างจิตสำนึกในชุมชนให้รักหวงแหนป่าที่เป็นเหมือนชีวิตและแหล่งต้นน้ำให้อยู่สืบไป