เชียงราย – ประกาศพื้นที่ภัยแล้งเต็ม 18 อำเภอแล้ว หลังสถานการณ์รุนแรงขึ้น ขณะที่ชาวนายังแห่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 2 แสนไร่
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย วันนี้ (11 มี.ค.) แจ้งว่า ปัจจุบันสภาพปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.เชียงราย รุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนา และมีการทำนาปรังลุ่มแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จ.เชียงราย ระบุว่ามีผู้ปลูกข้าวจ้าวนาปรังรวมกันจำนวน 17,882 ไร่โดยปลูกมากที่สุดในพื้นที่ อ.พาน ส่วนข้าวเหนียวนาปรังมีจำนวน 186,398 ไร่ ปลูกมากที่สุดในพื้นที่ อ.พาน และ อ.เวียงชัย ซึ่งเป็นผลทำให้มีการแย่งชิงน้ำจากแหล่งน้ำที่มีเหลืออยู่น้อยและเริ่มเหือดแห้งลงอย่างหนัก
ด้านว่าที่ พ.ต.ธีระ สันติเมธี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 ซึ่งดูแลพื้นที่ทั้ง จ.เชียงราย พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน กล่าวว่า ปัจจุบัน ปภ.ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งไปแล้วครบทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว และในส่วนของเชียงราย ก็ประกาศไปครบทั้ง 18 อำเภอแล้ว
จากนั้นได้ตั้งศูนย์อำนวยการระดับจังหวัดและให้แต่ละอำเภอได้มีการบูรณาการกับทุกหน่วยงานทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค ทหาร ฯลฯ
สำหรับแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำและพร้อมในการแจกจ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ไปถึงประชาชนที่ขาดแคลน ในส่วนของ ปภ.เองได้เร่งออกขุดลอก สร้างฝายกักเก็บน้ำ ซ่อมแซมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้พร้อมสรรพแล้ว
ว่าที่ พ.ต.ธีระ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.เชียงราย มีงบประมาณเพื่อจะนำไปช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งจำนวน 50 ล้านบาท และแต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ก็ได้รับงบประมาณเพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เนื่องจากคาดว่าตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือน เม.ย.จะแล้งหนักแต่ก็คงไม่แตกต่างจากสถานการณ์ในปี 2551 มากนัก
“สิ่งที่น่าห่วงคือประชาชนที่ปลูกนาปรังกันมาก เพราะเกิดปัญหาการแย่งน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ กัน เช่น ลุ่มแม่น้ำคำในเขต อ.แม่จัน พบว่าประชาชนต้นน้ำมีการใช้เครื่องสูบน้ำทำการสูบน้ำเลี้ยงนาปรังตลอดแนว ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใต้น้ำลงไปไม่มีใช้และแทบไม่เหลือน้ำไหลลงสู่ปากแม่น้ำที่แม่น้ำโขงเลย” ว่าที่ พ.ต.ธีระ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายเดือน มี.ค.จนถึงเดือน เม.ย.อาจจะมีพายุฝนได้เช่นกัน เพราะในปีที่ผ่านๆ มามีเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาหนักในเรื่องของพายุลูกเห็บซึ่งทำให้กระเบื้องของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมากจนการจัดซื้อกระเบื้องไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่เพียงพอ ดังนั้นในปีนี้จึงมีการเตรียมด้านต่างๆ ให้พร้อมกว่าเดิมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันดังกล่าว