xs
xsm
sm
md
lg

สองแถวไทยรับไม่กล้าข้ามฝั่งเข้าเมียวดีอ้างไม่ปลอดภัย-หวั่นเจอระเบิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ผู้ประกอบการโดยสาร 2 แถวไทยไม่ยอมวิ่งรถในฝั่งพม่า อ้างไม่ปลอดภัย-กลัวเจอระเบิด หลังรวมตัวชุมนุมประท้วงปิดสะพานมิตรภาพไทย-พม่า กดดันไม่ให้รถตู้พม่าข้ามฝั่งส่งผู้โดยสารถึงแม่สอด ขณะผู้โดยสารชาวพม่า รับขึ้นรถพม่าสะดวก ส่งถึงที่ไม่ต้องเสียค่าต่อรถเพิ่ม

นายสมพงษ์ ทวีไพบูลย์สกุล ประธานสหกรณ์เดินรถแม่สอด ซึ่งมีสมาชิกกว่า 300 คัน และประกอบการรถยนต์โดยสาร 2 แถว สายตลาดริมเมย ตำบลท่าสายลวด-ตลาดแม่สอดตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า จากการที่ฝ่ายเอกชนไทย และเจ้าหน้าที่ไทยได้ไปเสนอฝ่ายพม่า เพื่อให้รถยนต์โดยสาร 2 แถวไทยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ไปส่งผู้โดยสารซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามตลาดริมเมย บ้านริมเมยนั้น ไม่มีผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารรายใดกล้าเข้าไปฝั่งพม่า เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากพม่ายังมีปัญหาภายในประเทศ และการปกครองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย มีการสู้รบกันอยู่ แต่ทางฝ่ายพม่าเข้ามาเขตไทย ทางไทยดูแลคุ้มครองให้ได้ ไม่มีปัญหาใดๆ

“เราพอมีทางตกลงกันได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายพม่าเข้ามาวิ่งรถจำนวนมาก ก็ไม่ไหว ไม่มีขอบเขต ทำให้พวกเราเดือดร้อน รายได้ลดลง ถามว่าอยากให้รถยนต์ตู้พม่าเข้ามาหรือไม่ ไม่มีใครต้องการให้เข้ามา ขอวอนรัฐบาลช่วยพวกเราด้วย” นายสมพงษ์กล่าว

สำหรับบรรยากาศตลาดริมเมย เริ่มคึกคัก เมื่อรถยนต์โดยสารเข้า-ออกได้ตามปกติ ทำให้ฝ่ายพม่าเลิกใช้มาตรการที่ไม่ให้รถส่งสินค้าไทยผ่านสะพานเข้าประเทศ

ด้านหน่ายโมจ่อ ผู้โดยสารฝ่ายพม่าจากจังหวัดเมียวดีกล่าวว่า การโดยสารรถยนต์ตู้พม่านั้นมีความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไกลข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเข้ามา และรถตู้พม่าบริการดีกว่า ส่งถึงจุดที่ต้องการลงไปซื้อสินค้า ผิดกับรถยนต์โดยสารของไทยส่งแค่ท่ารถ ซึ่งต้องว่าจ้างรถจักรยายนต์รับจ้างอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้คนขับรถตู้พม่าสามารถสื่อภาษาเข้าใจกันง่ายกว่าคนขับรถยนต์โดยสาร 2 แถวไทย

รายงานข่าวแจ้งว่า นายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก และส่วนราชการภาครัฐ-เอกชนไทยได้พยายามทำความเข้าใจกับฝ่ายพม่า เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหารถตู้พม่าและรถสองแถวไทย เพื่อให้เกิดการลงตัวและประกอบการค้าและรับ-ส่งผู้โดยสารด้วยทางออกที่เป็นธรรมและให้ความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของประชาชนทั้งสองฝั่งริมแม่น้ำเมย มีอย่างต่อเนื่องตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น