xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จเปิดรถไฟไทย-ลาวปฐมฤกษ์ - ชาวลาวภูมิใจรถไฟสายประวัติศาสตร์เส้นทางแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย-สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว พร้อมทรงเปิดห้องสมุดการรถไฟเพื่อประชาชน ทางด้านลาวย้ำรถไฟสายนี้มีความสำคัญยิ่งต่อลาว เป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์สายแรกของลาว แม้จะมีระยะทางเพียง 3.5 กม.ก็ตาม อนาคตพร้อมขยายสร้างรางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านด้านอื่นๆ เชื่อมการค้า-ท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (5 มีนาคม 2552) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟอุดรธานี ถึงสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการเดินขบวนรถไฟเป็นปฐมฤกษ์ ระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว สายหนองคาย-ท่านาแล้ง

ในการนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายกษิตย์ ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายกวี กิตติสถาพร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษาประชาชนในจังหวัดหนองคายเข้าเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น

ทางฝ่ายลาวนำโดย นายสมมาด พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว, นายลัดตะนะมะนี คุนพิวง ปลัดกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง, นายกอบแก้ว หลวงโดด รองอธิบดีกรมพิธีการทูต, นายสมปอง พนเสนา รองหัวหน้าองค์การรถไฟลาว นำคณะเฝ้ารับเสด็จด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับพระราชอาสน์หน้าสถานีรถไฟหนองคาย นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตร จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาของการเปิดการเดินรถไฟและขอพระราชทานเชิญเสด็จฯ กดปุ่มแพรคลุมป้ายเปิดห้องสมุดการรถไฟเพื่อประชาชน พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการภายในห้องสมุด

จากนั้นเสด็จไปยังขบวนรถไฟพระที่นั่ง ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดลงทะเบียนรายพระนามผู้โดยสารรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ ทรงลั่นระฆังปล่อยขบวนรถไฟ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาของการก่อสร้างรถไฟสายนี้ว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2540 รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาวได้ร่วมลงนามสัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกัน เพื่อให้มีการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างสองประเทศ และให้การรถไฟของทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดจำนวนขบวนรถโดยสารและตารางการเดินรถ

ต่อมาวันที่ 1 ก.ค.2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือรัฐบาลสปป.ลาวในการก่อสร้างทางรถไฟจากช่วงกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถึงสถานีท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวงเงิน 197 ล้านบาท โดยเป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าร้อยละ 30 และเงินกู้ผ่อนปรนแบบมีเงื่อนไขร้อยละ 70

ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐมนตรีไทย-ลาว เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2547 เนื่องจากกฎระเบียบในสัญญาฉบับเดิมล้าสมัย ทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดทำสัญญาฉบับใหม่และได้ลงนามการตกลง ว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกันในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2551 การเดินรถไฟระหว่างประเทศทั้งสองนี้จะเป็นการพัฒนาการขนส่งระบบราง และศักยภาพการขนส่งในอนาคต ทั้งด้านผู้โดยสารและสินค้า รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติการเดินรถร่วมกันของการรถไฟทั้งสองประเทศ

ในโอกาสเดียวกันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดสร้างห้องสมุดของการรถไฟแห่งประเทศไทยในบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเป็นแหล่งเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนตลอดไป

จากนั้นเวลา 10.05 น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯโดยรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว ตามคำกราบบังคมทูลเชิญโดยมีท่านบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สปป.ลาว พร้อมด้วย ดร.สมมาด พลเสนา รมต.กระทรวงโยธาธิการและก่อสร้าง คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของลาว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย และคณะรัฐมนตรี เฝ้ารอรับเสด็จที่ประตูทางลงรถไฟพระที่นั่ง จากนั้นเสด็จฯ ประทับที่ห้องพักรับรอ และร่วมเป็นประธานเปิดเดินรถไฟไทย-ลาว โดยเสด็จฯ ประทับภายในเต็นท์รับรองร่วมกับท่านบุนยัง วอละจิด รองประธาน สปป.ลาว

นายสมมาด พนเสนา รมว.กระทรวงโยธาธิการและก่อสร้าง สปป.ลาว กล่าวว่า รัฐบาลลาวและประชาชนลาว ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนไทย ที่ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้โครงการฯนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งรถไฟสายนี้มีความสำคัญยิ่งของประเทศ สปป.ลาว คือ เป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลไทย ประชาชนลาวกับประชาชนไทย เป็นรถไฟสายประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นรถไฟสายแรกของลาว และมีความหมายสำคัญ แม้จะมีระยะทางเพียง 3.5 กม.ก็ตาม

ในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เหลืออีก 9 กม. ก็จะถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากการขนส่งระบบรางเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยและประชาชนคนไทย ก็ได้ให้ความช่วยเหลือ ความร่วมมือกับทางด้วยดีตลอดมา

เส้นทางรถไฟสายนี้ในอนาคตจะมีการขยายเพิ่ม เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ จะทำให้ประเทศลาวซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเลสามารถเป็นตัวเชื่อมและเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่นๆ จึงความภาคภูมิใจของชาวลาว ชาวไทย ตลอดจนประเทศอื่นๆ ทั้งในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอเป็นตัวแทนรัฐบาลลาวขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้จนสำเร็จลุล่วงมาด้วยดี และขอรับมอบโครงการนี้ไว้เพื่อดำเนินการต่อไป

จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศ สปป.ลาว ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดเดินรถไฟไทย-ลาวอย่างเป็นทางการ โดยเสด็จฯ ตัดริบบิ้นปล่อยแพรป้ายลูกโป่ง ปลูกต้นลีลาวดี และฉายพระรูปร่วมกับคณะฝ่ายลาวเป็นที่ระลึก จากนั้นเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่ง ที่ทางการลาวจัดถวายตามคำกราบบังคมทูลเพื่อประกอบพระกรณีกิจในประเทศ สปป.ลาว

ด้าน นายทวีป เสือรอด นายสถานีรถไฟหนองคาย กล่าวว่า หลังเสร็จพิธีเปิดแล้วจะยังไม่สามารถให้บริการเดินรถไฟได้ เนื่องจากยังมีข้อติดขัดเล็กน้อย ต้องมีการพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายในข้อปฏิบัติ รายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายเรื่อง หากมีการตกลงเจรจาเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วจึงจะเปิดให้บริการเดินรถไฟอย่างเต็มรูปแบบ

ในเบื้องต้นกำหนดขบวนรถไฟวิ่งบริการเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 เที่ยว หรือ 4 ขบวน คือ ออกจากสถานีหนองคายเวลา 10.00 น. ถึงสถานีท่านาแล้ง แล้วเวลาประมาณ 11.00 น.ออกจากสถานีท่านาแล้งกลับหนองคาย ส่วนในช่วงบ่ายเวลา 16.00 น. ออกจากสถานีหนองคายถึงสถานีท่านาแล้ง

จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. ออกจากสถานีท่านาแล้งกลับหนองคาย ใช้เวลาเดินรถไฟในแต่ละช่วง 15 นาที อัตราค่าโดยสารตู้นอนคนละ 50 บาท ตู้ปรับอากาศ 30 บาท ชั้น 2 ธรรมดา คนละ 20 บาท และทุกคนต้องทำหนังสือผ่านแดนก่อนเดินทางทุกครั้ง

ส่วนบรรยากาศภายหลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้นแล้ว ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จต่างพากันต่อแถวซื้อตั๋วโดยสารที่ระลึก ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเป็นพิเศษในงาน โดยมีจำหน่ายชนิดราคา 100 บาท เพียงประเภทเดียว เพียงไม่ถึง 20 นาทีก็ขายตั๋วหมด และยังมีประชาชนอีกจำนวนมากต้องการซื้อตั๋วโดยสารที่ระลึกนี้เก็บไว้

นอกจากนี้ยังให้ความสนใจซื้อแสตมป์และโปสการ์ดที่ทางไปรษณีย์หนองคายนำมาจำหน่าย ในราคาแสตมป์ดวงละ 3 บาท เป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และภาพรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ทางด้านไปรษณีย์ลาว ก็ได้นำแสตมป์ของลาวมาจำหน่ายให้เป็นของที่ระลึกภายในงานด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

















กำลังโหลดความคิดเห็น