บุรีรัมย์ - ปปส. ภาค 3 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 5 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างจัดเวทีเผยแพร่ผลการวิจัยการจัดการความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมดึงองค์กรชุมชนติดแนวชายแดนร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันแก้ไขปัญหา หลังพบสถิติจับกุมทั้งผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดในเขตภาคอีสาน พุ่งจากปีผ่านมา 10 %
วันนี้ ( 27 ก.พ. ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ปปส.) ภาค 3 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง จัดเวทีเผยแพร่ผลการวิจัยการจัดการความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ประชุมศิวาลัย ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ มหาวิทยลัยราชภัฎบุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
myh'ouh ได้ดึงเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่ติดแนวชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้ามามีส่วนร่วมรับความรู้ในการแก้ไขปัญหา การใช้ยุทธศาสตร์ในการควบคุมและยุติปัญหา ได้แก่ การพัฒนากลไก กระบวนการทางสังคม และลดเงื่อนไขของการก่อปัญหายาเสพติด รวมถึงการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน
นอกจากนั้นการจัดโครงการเผยแพร่ผลการวิจัยในครั้งนี้ ยังเป็นการสรุปบทเรียน จัดการความรู้ และสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน ในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่ติดแนวชายแดน และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจึงได้มีการจัดทำวิจัยสู่สาธารณะ
นายสกลสฤษณ์ บุญประดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดเวทีเผยแพร่ผลการวิจัยในครั้งนี้ เพื่อพัฒนากระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการดึงเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนปัญหายาเสพติดในปัจจุบันพบว่าจากข้อมูลสถิติการจับกุมในภาพรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดทุกประเภทเข้ามาระบาดได้อีก
ด้านนายโกวิท เชื่อมกลาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎบรีรัมย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ก็ได้มีการนำนักศึกษาเข้ามาอบรม เพื่อเป็นเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการแจ้งเบาะแสของนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์เสพ หรือค้ายาเสพติดให้ทางสถาบันหรือเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อจะได้เข้าไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทางด้าน นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 3 เปิดเผยว่า จากสถิติในปีที่ผ่านมาในเขตพื้นที่อีสานตอนล่าง สามารถจับกุมทั้งผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดได้จำนวน 13,068 คดี ส่งบำบัดจำนวน 6,670 คน ส่วนมากผู้ค้าที่ถูกจับกุมได้จะลักลอบขนยาเสพติดข้ามมาจากสปป.ลาว เข้ามาทางฝั่ง จ.อุบลราชธานี ,ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ตามลำดับ และจากข้อมูลพบว่าในช่วงเดียวกันของปีนี้ มีการจับกุมทั้งผู้เสพและผู้ค้าเพิ่มขึ้นถึง 10 % จะเห็นได้ว่ายาเสพติดยังมีแนวโน้มการแพร่ระบาดอยู่
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกับหลายภาคส่วน รวมถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนที่อยู่ตามแนวชายแดน เพื่อร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการเป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสของขบวนการค้ายาเสพติดและผู้เสพ เพื่อที่จะได้เข้าไปดำเนินการกวาดล้างจับกุมให้หมดไป ก่อนที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต จะตกเป็นทาสของยาเสพติดดังกล่าว