xs
xsm
sm
md
lg

คนเชียงรายฮือต้านโรงไฟฟ้าแกลบซ้ำ-มน.ยันกระทบ สวล.น้อย หนุนเต็มที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ชาวบ้านฮือต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย ซ้ำ ด้านนักวิชาการ ม.นเรศวร หนุน ยันโรงไฟฟ้าพลังแกลบกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยสุด รองจากโรงไฟฟ้าพลังลม ชี้ ทั่วประเทศไทยมีแล้ว 20 แห่ง ในเชียงรายเกิดแล้ว 1 แห่งสามารถดูเป็นต้นแบบได้

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (19 ก.พ.) นายอาคม สุขพันธุ์ นายอำเภอเวียงชัย จ.เชียงราย ได้นัดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านออกมาต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือพลังงานจากแกลบ ข้าวของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ซึ่งเตรียมจะเข้าไปก่อสร้างบนพื้นที่ 78 ไร่ เขตหมู่บ้านไตรแก้ว หมู่ 8 ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นำเข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อพิจารณาแต่ชาวบ้านอ้างว่ายังไม่ได้รับข้อมูลว่าจะส่งผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งอยากให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นด้วย

ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งตัวแทนจากบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเข้าไปศึกษา เพื่อจัดตั้งโรงงานและทำประชาคมชาวบ้าน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อบต.เวียงเหนือ กำนันผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้านใน ต.เวียงเหนือ และตัวแทนชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ช่วงที่มีการประชุมมีชาวบ้านประมาณ 500 คน พร้อมป้ายประท้วงพากันไปชุมนุมและเปิดเวทีปราศรัยกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอ เพื่อรอฟังผลการประชุมดังกล่าว

นายวิรัตน์ พรหมสอน แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า พวกเราไม่ได้ต่อต้านการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลอย่างหัวชนฝา แต่ชาวบ้านต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปวางแผนออกแบบโครงการจัดตั้ง ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่มีการวางแผน และจะจัดตั้งอยู่แล้วจากนั้นจึงให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะหากมีความผิดพลาดใดๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่กระทบกับสุขภาพชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงงานไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว เคยพยายามจะไปจัดตั้งที่ อ.ป่าแดด และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มาแล้วแต่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวต่อต้านไม่ต้องการให้ไปจัดตั้ง ดังนั้นเมื่อจะไปสร้างในพื้นที่ อ.เวียงชัย ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีการตรวจสอบกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในห้องประชุม อ.เวียงชัย นายอาคม ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ แสดงข้อมูลและซักถาม เพื่อหาข้อสรุปว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่ง นายธีรยุทธ ตั๊นวิเศษ ตัวแทนบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ได้ระบุว่า บริษัทเตรียมดำเนินการภายใต้การศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่แจ้งว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสม

นายอาคม จึงขอให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ชี้แจง ท่ามกลางการถามไถ่ของตัวแทนชาวบ้านด้วยความสงสัย

ขณะที่ ดร.พิสิษฏ์ มณีโชติ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวศึกษาแล้วพบว่ามีศักยภาพด้านการมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะป้อนโรงงาน ขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รองมาจากพลังงานลม ประเทศไทยผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 150,000 ล้านหน่วย มูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่มุ่งป้อนกรุงเทพฯ ดังนั้น พลังงานชีวมวลจึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับอนาคตซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแล้วกว่า 20 แห่ง ในพื้นที่ จ.เชียงราย ก็มีแล้ว 1 แห่งอยู่ที่ อ.เวียงแก่น ซึ่งชาวบ้านสามารถไปศึกษาดูงานได้ที่ อ.เวียงแก่น หรือภายในมหาวิทยาลัยก็ได้ กระนั้นการเรียกร้องของชาวบ้านก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้หารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรยังได้ชี้แจงการทำประชาคมในพื้นที่ว่า ได้เข้าดำเนินการในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ทำเนื่องจากผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยระบุเพียงให้แจ้งกับประชาชนทราบเท่านั้น นอกจากนั้น กองทุนพัฒนาไฟฟ้าก็ได้กำหนดให้มีการหารือกับชาวบ้าน เพื่อแจ้งว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไรด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยใช้เวลา 2 เดือน พบว่าประชาชน 11 หมู่บ้านเห็นด้วยกว่า 85%

อย่างไรก็ตาม แกนนำชาวบ้านยังไม่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบ ดังนั้น นายอำเภอเวียงชัย จึงแจ้งให้บริษัทกลับไปให้ความรู้กับประชาชนตามขั้นตอนอีกครั้ง จากนั้นจึงเลิกประชุมและชาวบ้านจึงแยกย้ายกันกลับโดยที่ไม่ได้ข้อยุติเช่นเคยว่าจะสามารถก่อสร้างได้หรือไม่

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนประมาณ 60 คน เดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ กรีนเพาเวอร์ ต.บุฤาษี อ.เมือง จ.สุรินทร์ เพื่อเยี่ยมชมขั้นตอนการขจัดฝุ่นละอองที่เป็นสาเหตุของมลภาวะเป็นพิษในอากาศ ระบบการขจัดน้ำเสีย และมลภาวะทางเสียง ที่เกิดจากขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งใช้แกลบ เปลือกของข้าวเปลือก และเปลือกไม้เป็นวัตถุดิบ

ผลการศึกษาดูงาน พบว่า ฝุ่นและควันจากการเผาไหม้จะถูกดึงไปเข้าเครื่องกำจัดฝุ่นที่เป็นระบบปิดถึง 2 ขั้นตอน ทำให้เหลือฝุ่นในอากาศไม่ถึง 1% ที่ถูกปล่อยออกสู่อากาศภายนอก หากเกิดเหตุผิดพลาดระบบดังกล่าวจะหยุดทำงานทัน และกักฝุ่นส่วนเกินไว้เพื่อกำจัดด้วยระบบสำรอง สำหรับระบบน้ำที่จะนำมาใช้นำมาจากบ่อเก็บน้ำจำนวน 4 บ่อ ความจุ 800,000 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีการนำจากแหล่งน้ำสาธารณะมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่พอใจในการดูงานครั้งนี้ แต่ก็ยังเกิดปัญหาการชุมนุมต่อต้านดังกล่าวในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น