เชียงราย – พื้นที่ 4 จังหวัดล้านนาตะวันออก เริ่มเผชิญปัญหาหมอกควันจากไฟป่า-การเผาวัชพืชแล้ว แม้ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปภ.เขต 15 เร่งดึง อปท.-ชาวบ้าน ร่วมสร้างเครือข่ายป้องกันแล้ว
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนแล้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้เกิดไฟป่าเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นเพียงการลุกไหม้ในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตามความถี่ในการเกิดไฟป่ามีมากขึ้น ประกอบกับยังมีเกษตรกรบางรายมีการเผาฟางข้าวที่หลงเหลือและวัชพืชเพื่อเตรียมปลูกพืชอื่นในฤดูแล้งทำให้เริ่มมีหมอกควันเกิดขึ้นแล้ว
ล่าสุด ทางกรมควบคุมมลพิษได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อวัดสภาพอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์และจะได้เตือนให้ประชาชนได้ระมัดระวังกรณีมีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน
นายภานุมาศ ประกอบกสิกรรม เอกชนที่ทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศให้กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่าสภาพอากาศของภาคกลางและภาคเหนือ เริ่มมีมีหมอกควันมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต โดยสำหรับ จ.เชียงราย วัดค่าของฝุ่นละอองขนาดต่ำกว่า 10 ไมคอน ว่า มีปริมาณอยู่ที่ประมาณ 90-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย แต่หากว่าเกินปริมาณ 90-100 ไมโครกรัมดังกล่าว ไปก็จะอาจจะเข้าเกณฑ์เป็นอันตรายได้เช่นกัน ซึ่งก็มีปัจจัยอื่นมารวมอยู่ด้วย เช่น การเกิดไฟไหม้มากขึ้น ไม่มีกระแสลมคอยพัดพาหมอกควันออกไป เป็นต้น
ขณะที่ พ.ต.ธีระ สันติเมธี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 (เชียงราย จ.พะเยาะ จ.แพร่ และ จ.น่าน) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการเกิดหมอกควันยังคงมาจากการเผาวัชพืชและไฟป่า โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูงที่มักจะทำไร่ และล่าสัตว์หรือหาของป่า เมื่อเกิดไฟลุกลามก็ควบคุมไม่ได้จนเกิดเป็นฝุ่นละอองหมอกควันตามมาในที่สุด
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแต่หากว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 200 ไมรโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมทันที กระนั้นเพื่อป้องกันไว้ก่อนก็จะได้ดำเนินโครงการรณรงค์ในหมู่บ้านต่างๆ ทั้ง 4 จังหวัด โดยอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลร้ายของการทำให้เกิดไฟลุกไหม้และควันไฟ การจัดแนวกันไฟกรณีเกิดไฟไหม้ป่าหรือทุ่งกว้าง
“เราดึงกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านมาเข้ามาทำเป็นเครือข่าย หมู่บ้านละอย่างน้อย 2 คนเพื่อช่วยกันรณรงค์และตรวจวัดสภาพอากาศหรือเป็นมิสเตอร์เตือนภัย ขณะเดียวกัน ก็ประสานหน่วยงานด้านป่าไม้เตรียมใช้กฎหมายเข้าไปควบคุมการเผาป่าอย่างเข้มงวดด้วย” พ.ต.ธีระ กล่าว