xs
xsm
sm
md
lg

จีนเริ่มเปิดเขื่อนส่งน้ำเลี้ยงโขง แก้ปัญหาแม่น้ำโขงแห้ง-เรือสินค้าเกยตื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - จีนเปิด-ปิดเขื่อนน้ำโขง แก้น้ำแห้งฤดูแล้ง จนเรือขนส่งสินค้าติดสันดอนทรายกันระนาว ขณะที่ผู้ประกอบการท่าเรือริมน้ำโขง เชื่อหลังจีนสร้างเขื่อนเสร็จ การเดินเรือสินค้า-ท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง หนุนการขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งปีแน่

นายประธาน อินทรียงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเซาท์ไชน่า จำกัด ซึ่งประกอบกิจการท่าเรือในแม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ เปิดเผยกับ “ASTV ผู้จัดการ” ว่าในฤดูแล้งนี้พบว่าแม่น้ำโขงที่ใช้สำหรับการเดินเรือสินค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ ไทย จีน สปป.ลาว และพม่า แห้งลงเหมือนทุกปี และจากการที่เกิดสภาวะแห้งในช่วงก่อน จนทำให้เรือสินค้าติดหาดทรายหรือเกยตื้นบ่อยครั้งนั้น พบว่าในปัจจุบันแม่น้ำโขงได้เพิ่มระดับขึ้นอีก 30-50 ซม.จนทำให้การเดินเรือเป็นไปตามปกติแล้ว สาเหตุเกิดจากทางการจีนได้ทำการเปิดน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งพึ่งสร้างแล้วเสร็จ ที่เมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.ของทุกวัน

นายประธาน กล่าวว่า เท่าที่ทราบเขื่อนจิ่งหงมีความจุของน้ำกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตร กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งน้ำจากแม่น้ำโขงก็ยังคงไหลมาจากมณฑลชิงไห่อย่างต่อเนื่อง และไม่มีวันหมดเพราะเป็นน้ำที่ละลายมาจากหิมะบนเทือกเขา ดังนั้น การที่มีกระแสว่าจีนได้กักเก็บน้ำเอาไว้หมดและไม่ปล่อยลงมา จนทำให้เกิดปัญหาแห้งแล้งไม่สามารถเดินเรือได้จึงไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีน้ำลงไปเติมเต็มเขื่อนก็ย่อมต้องระบายลงมา ไม่เช่นนั้นก็จะเอ่อล้น

ส่วนความแห้งแล้งที่พบกันก็ถือว่าเป็นไปตามปกติในฤดูแล้ง เพียงแต่ว่าในปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์เพื่อการขนส่งทางเรือมากขึ้น เมื่อพบปัญหาจึงเกิดกระแสมากกว่าปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ตนเห็นว่าเมื่อเขื่อนจิ่งหงในจีนสร้างแล้วเสร็จ และใช้งานอย่างเต็มที่เหมือนในปีนี้แล้วปัญหาเรือเกยตื้นจากหาดทรายจะหมดไป และแม่น้ำโขงจะสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งปีต่อไป

ปัจจุบันมีเขื่อนที่ก่อสร้างในแม่น้ำโขงที่จีนตอนใต้แล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 3 แห่งและกำลังก่อสร้างอีก 2 แห่ง ขณะที่ในจีนมีโครงการที่จะสร้างโดยรวมจำนวน 6 แห่ง ของพม่า 3 แห่ง และของ สปป.ลาว จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งหมด 14 แห่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสร้างในแม่น้ำโขงทั้งหมดแต่บางแห่งสร้างในแม่น้ำสาขาก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ผลการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีพบว่า หากมีการนำพลังงานจากเขื่อนต่างๆ มาใช้ในระยะเวลา 20 ปีนี้จะช่วยลดต้นทุนของการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 460 พันล้านบาท และลดต้นทุนจากการเกิดภาวะเลื่อนกระจก อันเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนได้มากถึง 18,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น