บุรีรัมย์ – จี้ อปท.บุรีรัมย์กว่า 200 แห่ง เร่งเบิกจ่ายงบ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล หลังได้รับการอนุมัติกว่า 1,000 ล้าน เผย อบจ.ได้มากสุดกว่า 55 ล้าน พร้อมยกเว้นระเบียบการจ่ายขาดเงินสะสมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มสภาพคล่อง
วันนี้ (3 ก.พ. ) นายวีระชัย ประยูรเมธา รักษาราชการแทนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2552 ในส่วน จ.บุรีรัมย์ มีองค์กรท้องถิ่นทั้งสิ้น 209 แห่ง แยกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 แห่ง, เทศบาล 45 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 163 แห่ง
ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2552 งวดที่ 1 ทั้งสิ้นกว่า 1,003 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้รับโอนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ประกอบด้วย อปท.ที่มีการบริหารจัดการที่ดี 4 แห่ง เป็นเงิน 5,000,000 บาท อปท.ที่ได้รับรางวัลชนะการประกวดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 12 แห่ง เป็นเงิน 5,850,000 บาท อปท.ที่ได้รับรางวัลชนะการประกวดตลาด 9 แห่ง เป็นเงิน 2,524,000 บาท และ อปท.ที่มีความพยายามในการจัดเก็บภาษี 18 แห่ง เป็นเงิน 3,628,741 บาท
ทั้งนี้ อปท.ใน จ.บุรีรัมย์ ทั้ง 209 แห่ง ได้รับโอนเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว โดย อบจ.ได้รับโอนในงวดนี้ มากสุด คือ 55,214,473 บาท , เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ 22,013,594 บาท และเทศบาลเมืองนางรอง 17,998,968 บาท ส่วน อบต.ได้รับตามสัดส่วนมากน้อย โดยเฉพาะ อบต.ขนาดเล็ก จะได้รับประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งเงินแต่ละส่วนได้ถูกโอนเข้าในบัญชีของแต่ละ อปท.เรียบร้อยหมดแล้ว
นายวีระชัย กล่าวอีกว่า สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เร่งรัดให้ อปท.ทุกแห่ง เร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวนี้โดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ แต่ละองค์กรท้องถิ่น ไม่มีงบประมาณเหลือจ่ายสำหรับการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในหมวดเงินเดือน ค่าจ้างและอื่นๆ ซึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ดำเนินมาตรการ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาให้กับ อปท.ที่ไม่มีงบประมาณเหลือจ่ายในหมวด ค่าจ้าง เงินเดือน และอื่นๆ จำนวนหลายแห่ง โดยยกเว้นระเบียบการจ่ายขาดเงินสะสม เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา ที่จำเป็นก่อน และเมื่อมีเงินโอนเข้ามา และเหลือพอ จากรายจ่ายแล้วให้นำมาทดแทน