xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ยิงฮาร์พูนอาวุธปล่อยนำวิถีแม่นยำถูกเป้าระเบิดกลางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทัพเรือเคลื่อน “จักรีนฤเบศร” ออกจากท่าบัญชาการฝึกและสังเกตการณ์ เรือหลวงนเรศวร เขี้ยวเล็บราชนาวีไทย และเรือ RSS VICTORY ราชนาวีสิงคโปร์ แสดงแสนยานุภาพทางทะเล ยิงอาวุธปล่อยนำวิถี ฮาร์พูนได้อย่างแม่นยำ ถูกเป้าหมายกลางทะเล ทหารเรือไทยและสิงคโปร์ยังถ่วงดุลความแม่นยำเขี้ยวเล็บทางทะเล

วันนี้ (13 ม.ค.) พลเรือเอก รพล คำคล้าย เสนาธิการทหารเรือ และพลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พลเรือตรี ไชยยศ สุนทรนาค ผู้บัญชาการ กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นผู้บังคับหมวดเรือยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน แบบพื้นสู่พื้น ฝ่ายไทย และนาวเอก Timothy LO ผู้บัญชาการกองเรือที่ 188 เป็นผู้บังคับหมวดเรือฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน

ฝ่ายสิงคโปร์พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสิงคโปร์ ร่วมสังเกตการณ์ฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน จากเรือหลวงนเรศวร และเรือ RSS VICTORY ของกองทัพเรือสิงคโปร์ โดยมีเรือหลวงจักรีนฤเบศร กองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เป็นเรือสังเกตการณ์ และเรือบัญชาการในทะเล ซึ่งผลจากการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนทั้งสองลูก สามารถวิ่งชนเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปจากเรือยิงจำนวน 33 กิโลเมตร ได้อย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพ ประสิทธิภาพของอาวุธปล่อยนำวิถีซึ่งเป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือไทยอย่างแท้จริง

พลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก ผู้บัญชาการ กองเรือยุทธการ เปิดเผยว่า การยิงอาวุธปล่อยนำวิถี ฮาร์พูน จากเรือหลวงนเรศวร ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่กองทัพเรือของทั้ง 2 ประเทศ ได้ร่วมกันฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน แบบพื้นสู่พื้น เป็นการทดลองยิงเพื่อทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการพุ่งเป้าเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการทำลาย ซึ่งสำหรับการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนนำเข้ามาประจำการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2529 โดยติดตั้งมากับเรือคอร์เวต ชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์

ต่อมาได้ทำการปรับปรุง เครื่องบินแบบ F-27 MK 200 เมื่อปี พ.ศ.2533 ให้สามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนแบบอากาศสู่พื้น เพื่อใช้โจมตีเรือผิวน้ำ ต่อมาเรือที่เข้าประจำการในกองทัพเรือหลายลำก็ได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนเป็นอาวุธหลัก ได้แก่ เรือฟริเกตชุด เรือหลวงนเรศวร 2 ลำ และเรือฟริเกตชุด เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 2 ลำ

อาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูนสามารถยิงได้ไกลเกินระยะขอบฟ้า ออกแบบให้มีหัวรบมีอำนาจทำลายสูง สามารถต่อตีเป้าซึ่งมองเห็นได้หรืออยู่ไกล เกินขอบฟ้า ระยะยิงของอาวุธปล่อยนำวิถียิ่งไกลขึ้นก็จะทำให้เกิดอัตราผิดของตำแหน่งอาวุธปล่อยนำวิถีมากยิ่งขึ้น อาจเกิดขึ้นจากค่าผิดพลาดจากอุปกรณ์ภายในลูกอาวุธปล่อยนำวิถีและสภาวะภายนอก เช่น ลม อุณหภูมิ ถ้าไม่มีการแก้ไขอาจทำให้อัตราผิดยิ่งมากขึ้น อาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ สภาวะอากาศ เครื่องค้นหาเป้ามีสมรรถภาพสูง ตรวจจับเป้าได้ระยะไกล มีขีดความสามารถติดตามเป้าในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี เช่น ระดับคลื่น ทัศนะวิสัยต่างๆ การเกิดฝน หิมะ ลูกเห็บและอุณหภูมิ




กำลังโหลดความคิดเห็น