xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบ “เขื่อนลำปะทาว” บุกยึดศาลากลางฯชัยภูมิ - ทวงคำตอบค่าชดเชยที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรชาวชัยภูมิผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปะทาว กว่า 300 คน บุกยึดหน้าศาลากลางจังหวัดฯ ทวงคำตอบค่าชดเชยที่ดิน วันนี้ (22 ธ.ค.)
ชัยภูมิ – เกษตรกรชัยภูมิผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากการก่อสร้าง “เขื่อนปะทาว” กว่า 300 คนบุกยึดหน้าศาลากลางฯ ชัยภูมิ ทวงคำตอบผู้ว่าฯ รับเรื่องเสนอรัฐบาลชง ครม.อนุมัติเงินค่าชดเชยไม่คืบ หลังปักหลักชุมนุมบนสันเขื่อนเรียกร้องมานานกว่า 15 เดือนเต็ม ยันชุมนุมหน้าศาลากลางฯ จนกว่าจะได้คำตอบ

วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ (หลังเก่า) อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กลุ่มเกษตรกรผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบกรณีที่ดินและที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมจากการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำลำปะทาว จาก อ.แก้งคร้อ และอ.เมือง จ.ชัยภูมิ กว่า 300 คน เดินทางมาชุมนุมประท้วง พร้อมเปิดเวทีปราศรัยกล่าวโจมตีการทำงานของจังหวัดชัยภูมิที่ล่าช้า และปิดบังข้อมูล ยืนยันปักหลักชุมนุมจนกว่าจะได้รับความตอบที่ชัดเจนจาก นายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนดังกล่าวได้ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมโดยให้จังหวัดฯเร่งสรุปความเดือดร้อนของประชาชน เสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือชดเชยค่าที่ดินแก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ มาตั้งแต่ปี 2532 และได้รวมตัวกันปักหลักชุมนุมนอน กินอยู่บนสันเขื่อนลำปะทาว ติดต่อกันมานานกว่า 15 เดือนแล้ว

นายอิฐทิ ขวัญอุดมพร แกนนำเกษตรกรผู้เดือนร้อน กล่าวว่า หลังจากก่อสร้างเขื่อนลำปะทาว ขึ้นเมื่อปี 2532 ทำให้ประชาชน 2 อำเภอ คือ อ.แก้งคร้อ และ อ.เมืองชัยภูมิ ได้รับความเดือดร้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมเสียหาย รวมกว่า 499 ครอบครัว ซึ่งมีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมาโดยตลอด และรัฐบาลได้จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้กลับราษฎรผู้เสียหายไปแล้วบางส่วน

ล่าสุดเมื่อปลายปี 2550 ได้มีมติ ครม.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เจ้าของพื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำลำปะทาวและทางจังหวัด ชัยภูมิ เร่งดำเนินการสำรวจสรุปพื้นที่ความเสียหายของราษฎร พร้อมตีแปลภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อเสนอต่อ ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเงินค่าชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบที่เหลืออีก 345 รายโดยด่วน แต่มาจนปัจจุบันชาวบ้านปักหลักรอความหวังมานานกว่า 15 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นายอิฐทิ กล่าวต่อว่า การดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำปะทาว มาตั้งแต่ต้นปี 2551 แล้ว โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง และ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตัวแทนกระทรวงพลังงาน ตัวแทนเจ้าของพื้นที่ และตัวแทนราษฎรผู้ได้รับผลกระทบฝ่ายละ 12 คน เป็นคณะกรรมการดำเนินการร่วมกัน

คณะกรรมการฯดังกล่าวได้ส่งเรื่องทั้งหมดให้กับทางจังหวัดฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อกำหนดวันประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดฯ เพื่อสรุปผลการดำเนินการ เสนอต่อให้รัฐบาลและ ครม.พิจารณาต่อไป แต่ทางจังหวัดฯ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิไม่เร่งดำเนินการใดๆ อ้างว่าต้องส่งเรื่องไปที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เพื่อพิจารณาเสียก่อน

ทั้งที่กระบวนการต่างๆ ทั้งการสำรวจพื้นที่ทับซ้อน จากการตีแปลภาพถ่ายทางอากาศของทหารก็เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนให้คณะกรรมการระดับจังหวัดฯ พิจารณาเสนอต่อรัฐบาลและ ครม.พิจารณาเท่านั้น จังหวัดฯ ยังมาดึงเรื่องให้ล่าช้าและไม่มีที่ท่าว่าจะกำหนดวันประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดฯ ดังกล่าวเสียที

ดังนั้น วันนี้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่เดินทางมาทั้งหมด จะปักหลักชุมนุมนอนกินอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิไปจนกว่าจะได้รับคำตอบและได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการรับดับจังหวัดฯ ให้ได้ผลสรุปเสร็จสิ้นทั้งหมด เพื่อจะได้เร่งเสนอต่อรัฐบาลใหม่ นำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณจ่ายค่าชดเชยช่วยเหลือราษฎรที่เหลือ 345 ครอบครัว รวมเนื้อที่กว่า 7,000 ไร่ ในอัตราไร่ละไม่ต่ำกว่า 32,000 บาท ตามที่มติ ครม.เคยกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ ยังไม่ได้มาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด มีเพียง นายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ ปลัดจังหวัดชัยภูมิ มาชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่า ขณะนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กำลังพิจารณาอยู่ จากนั้นถึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง จึงขอให้ประชาชนได้เข้าใจเพราะเรื่องนี้มีหลายขั้นตอน








กำลังโหลดความคิดเห็น