xs
xsm
sm
md
lg

สระแก้วรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สระแก้ว - จังหวัดสระแก้วจัดกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาด และทำลายเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการฟาร์ม เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ร่วมงานพิธีเปิด “กิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง ครั้งที่ 1/2552 “ ณ จุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ ในวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2551 เวลา 09.00 นาฬิกา โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว (นายศานิตย์ นาคสุขศรี) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

ภายในงานจะมีนิทรรศการเรื่องโรคไข้หวัดนกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกปรุงสุก เช่น เมนูไก่-เป็ด ไข่ต้ม ให้ชิมฟรี! อีกด้วย ในสถานการณ์ปัจจุบัน จากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในไก่พื้นเมือง ในเขตพื้นที่ อำเภอทุ่งเสลี่ยง จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 และอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ประกอบกับจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเกิดภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ และมีการอพยพของนกธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่สัตว์ปีก อาจป่วยตายด้วยโรคไข้หวัดนก การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนก จึงถือเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะป้องกันและกำจัดเชื้อโรคไข้หวัดนกในสิ่งแวดล้อมได้

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ได้ขอเชิญชวนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง ครั้งที่ 1/2552 โดยพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งจังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน – 19 ธันวาคม 2551 และขอให้เกษตรกรปฏิบัติดังนี้ เก็บกวาดทำความสะอาดภายในโรงเรือน , ขนวัสดุปูรอง มูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลออกจากโรงเรือน , ล้างพื้นผิวภายในโรงเรือนด้วยน้ำสะอาด , ล้างคราบสิ่งสกปรกบนถาดไข่ ถังน้ำ ถังอาหารและอุปกรณ์ทุกชนิด

จากนั้นนำอุปกรณ์ไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจนท่วมอย่างน้อย 30 นาที , พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ทั่วทั้งโรงเรือนในทุกซอกทุกมุม , ปล่อยให้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคสัมผัสพื้นผิวโรงเรือนอย่างน้อย 30 นาที , ห้ามพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคโดยตรงกับตัวสัตว์และอาหารสัตว์รวมถึงบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ , กลุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ กลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเตอร์นารี่แอมโมเนียม กลุ่มฟีนอล กลุ่มกลูตาราลดีไฮล์ กลุ่มโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เป็นต้น , หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกด้วยทุกครั้ง , เมื่อพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น