xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ รพ.พิจิตร ยันเหยื่อแฟชั่นเจาะลิ้นอยู่ได้-ไม่ต้องผ่าตัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - แพทย์เผยอาจไม่ต้องผ่าตัดสาวรุ่นวัย 14 เจาะลิ้น แต่เกิดพลาดเข็มแทงคาอยู่ในช่องปาก หวั่นถ้าผ่าตัดอาจเป็นอันตรายได้ เนื่องจากคนไข้เป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ อีกทั้งเป็นโรคปอดโอกาสเสี่ยงสูง แต่ถ้าแผลกำเริบอาจจำเป็นต้องลงมีด

นายแพทย์ไพรัตน์ ศรีพลากิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปาก คอ จมูก โรงพยาบาลพิจิตร แพทย์เจ้าของไข้ เด็กหญิงวรรนิภา นาคพอง วัย 14 ปี ที่นำเข็มมาเจาปลายลิ้นและเกิดพลาด เข็มหลุดไปในคอและฝังตัวอยู่ที่โคนลิ้น เปิดเผยว่า เข็มที่ฝังเจาะนั้นอยู่ระหว่างลิ้นกับคาง ไม่ได้อยู่ที่กล่องเสียงหรือจุดที่ลิ้มรสอาหาร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการพูดหรือการกิน โดยปกติแล้วเด็กหญิงวรรนิภา ก็ยังจะสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต โดยมีเข็มอยู่ภายในลำคอ ไม่ต้องผ่าเนื่องจากเป็นวัตถุที่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อเช่นเดียวกับหัวกระสุนปืน และอาจจะหลุดออกมาได้เอง
แต่หากผ่าตัดก็อาจจะทำให้เสียเลือดมาก

ขณะที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านสุขภาพมีโรคหลายโรค เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคหัวใจ มีปอดข้างเดียว และปอดที่มีก็เป็นโรคถุงลมโป่งพอง การวางยาสลบและการผ่าตัดจึงมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบริเวณลิ้นเป็นจุดที่เลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมาก หากผ่าตัดก็อาจจะทำให้เลือดไหลมากกว่าปกติ

ประกอบกับภาพที่เอกซเรย์มาได้เป็นภาพมิติเดียวไม่ใช่ภาพ 3 มิติ แต่หากต้องการภาพ 3 มิติ เพื่อให้เห็นที่อยู่ของเข็มที่ชัดเจนก็ไม่สามารถทำได้ หรือจะทำ MRI ก็ทำไม่ได้ การทำ MRI ที่มีข้อห้ามว่า ห้ามใช้กับสิ่งแปลกปลอมที่เป็นเหล็ก อยู่ในร่างกายซึ่งจะเกิดการรบกวนกับสนามแม่เหล็ก

ล่าสุด ขณะนี้ได้นัดให้คนไข้มาตรวจดูอาการทุกเดือน โดยเฉพาะเข็มที่อยู่ในลำคอว่าเคลื่อนตัวไปทางไหนหรือไม่ แต่หากจะผ่าตัดก็ต้องมีอาการดังต่อไปนี้คือ ติดเชื้อ ปวดคอ บวมแดงร้อนที่คาง เบื้องต้นต้องปล่อยให้เข็มอยู่ในลำคอไปก่อนเพื่อรอดูอาการ สรุปเวลาจะเป็นเครื่องตัดสินอีกครั้งว่าจะผ่าหรือไม่แต่ทุกวันนี้ ผู้ป่วยก็ใช้ชีวิตกินข้าว กินน้ำ ได้อย่างคนปกติแล้ว แถมยังออกไปทำงานไปเต้นเป็นหางเครื่องกับวงดนตรีในหมู่บ้าน เพื่อหาเลี้ยงชีพและคนในครอบครัว เนื่องจากมีฐานะยากจน แต่ทางคณะแพทย์ก็เฝ้าติดตามคนไข้รายนี้อย่างใกล้ชิดแล้วด้วย เพื่อเป็นกรณีศึกษา

ส่วนผู้ที่เสนอความคิดว่าน่าจะใช้แม่เหล็กขนาดใหญ่ดูดเข็มออกมาทางวงการแพทย์ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ถ้ามีนักวิทยาศาสตร์ท่านใดคิดค้นเครื่องมือชนิดนี้ได้ แล้วถ้าคนไข้ต้องการจะทดลองก็ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล


กำลังโหลดความคิดเห็น