พิษณุโลก – หัวหน้าทุ่งแสลงหลวง ยืนยัน “ฝายหินทิ้ง” คุ้ม หลังถูกติงแพงเกินจริง ชี้ต้องบวกค่าขนส่งวัสดุเข้าป่าด้วย ระบุมีประโยชน์ช่วยชะลอน้ำในเขตอุทยานฯ
นายอุดม ใบศิริ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลกและนายไพรัช มณีงาม เจ้าพนักงานป่าไม้ 6 สำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้างฝายแม้วในเขต อ.นครไทย อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าหลายจุด ทั้งฝายที่ก่อสร้างในรูปแบบหินทิ้งและฝายที่ใช้ไม้ไผ่ ทรายและปูนในการก่อสร้าง
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงที่มีพื้นที่จำนวน 789,000 ไร่นั้น จากการสำรวจเชิงวิชาการ มีพื้นที่ลำห้วยสำคัญประมาณ 30 ลำห้วย ที่ไหลลงสู่ลำน้ำเข็ก แหล่งต้นน้ำสำคัญของ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่ที่เหมาะต่อการสร้างฝายแม้วจำนวน 10,800 แห่ง ในปีงบประมาณ 2551 ได้รับงบประมาณจำนวน 17 ล้านบาท ก่อสร้างฝายแม้วจำนวน 3,400 แห่ง แห่งละ 5,000 บาท โดยแบ่งเจ้าหน้าที่ 11 ราย รับผิดชอบการก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนเสร็จในเดือนกันยายน 2551
“หลายฝ่ายโจมตีว่าการก่อสร้างฝายแต่ละแห่งไม่น่าจะถึง 5,000 บาท ขอชี้แจงว่า งบประมาณส่วนใหญ่กว่า 70% หรือประมาณ 3,500 บาท ใช้จ้างคนงานก่อสร้างประมาณ 8-10 คน ฝายแต่ละแห่ง มีความยาวเฉลี่ย 2-5 เมตรกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร การก่อสร้างนั้นจะหนักไปทางค่าจ้างแรงงานในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งต้องใช้แรงงานขนหินและทรายเข้าไปยังจุดก่อสร้างที่ลำบากมาก กลางป่าลึกส่วนใหญ่ มีการก่อสร้างฝายแม้วแบบต่างๆ 6 ชนิด ที่ผ่านมาก็มีบ้างประมาณ 10% ที่เสียหายจากกระแสน้ำ แต่ผู้รับผิดชอบก็เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขได้”
กระแสข่าวการตรวจสอบการก่อสร้างฝายแม้วในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ในส่วนของพิษณุโลกนั้นก็กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดย สตง.และคณะกรรมการจากสำนักบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก
สำหรับการก่อสร้างฝายแม้วของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ปีงบประมาณ 2551 งบประมาณแห่งละ 5,000 บาทจำนวน 119,600 แห่งในพื้นที่ป่าทั่วประเทศว่า ค่าก่อสร้างจริงๆ แล้วไม่น่าจะถึง 5,000 บาท