ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งแพทย์ดูแลทหารพรานที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกับกัมพูชาอย่างเต็มที่ เผย อาการล่าสุดทหารพรานทุกนายปลอดภัยแล้ว แต่ต้องพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลอีกสักระยะ พร้อมกำชับ รพ.อยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 19 แห่ง 4 จังหวัด ให้เตรียมพร้อมตลอด 24 ชม.ชี้ สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เตือน ปชช.ดูแลสุขภาพ ระวังโรคที่มากับฤดูหนาว
วันนี้ (21 ต.ค.) นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่ จ.นครราชสีมา ถึงอาการบาดเจ็บของทหารพรานจากเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา ที่ภูมะเขือ ชายแดนเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า แพทย์พยาบาลได้ให้การดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่ ส่วนอาสาสมัครทหารพรานที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) ทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ได้ทำการผ่าตัดไปแล้วและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เนืองจากถูกสะเก็ดกระสุนปืนมากจึงทำให้เสียชีวิตดังกล่าว
สำหรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บคนอื่นๆ ซึ่งยังคงนอนพักรักษาอาการอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขนั้น แพทย์พยาบาลได้ให้การดูแลเต็มที่ อาการล่าสุดทหารทุกนายปลอดภัยดีแล้วไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง พักรักษาตัวไม่นานก็กลับบ้านได้
นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการไปยังโรงพยาบาลทั้ง 19 แห่งในพื้นที่แนวชายแดน ไทย-กัมพูชา ซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัด ให้เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ รถพยาบาลฉุกเฉิน บุคลากรแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมอยู่ตลอด สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสถานการณ์ตามแนวชายแดนยังไม่น่าไว้วางใจ
นพ.ปราชญ์ ยังกล่าวถึงโรคที่มากับอากาศหนาวเย็น ว่า ช่วงนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว อยากฝากเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์เป็นการด่วน โดยโรคที่พบการระบาดมากในช่วงฤดูหนาวคือ โรคไข้หวัด และปอดบวม
ส่วนการป้องกันโรคไข้หวัดนก ซึ่งมักพบการระบาดมากในช่วงฤดูหนาวเช่นกันนั้น นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกมาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ประมาทยังคงเฝ้าระวังอยู่อย่างสม่ำเสมอ รายงานล่าสุดยังไม่พบการระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ใดของประเทศไทย
แต่ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือไปยังประชาชนให้ระมัดระวังโรคดังกล่าวด้วย โดยควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันไว้ ทั้งหน้ากาก และถุงมือ หากพบสัตว์ปีกในบ้านป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็ให้ใส่ถุงมือเก็บไปทิ้งหรือฝังอย่านำมารับประทานอย่างเด็ดขาดและการรับประทานเนื้อไก่หรือไข่ไก่จะต้องปรุงให้สุกก่อน