ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เผย “การบินไทย” ขอความร่วมมือจังหวัดเชียงใหม่กำหนดเวลาปล่อยโคมลอยหลังเวลา 21.30 น.ช่วงงานประเพณี “ยี่เป็ง” ยื่นคำขาดหากทำไม่ได้อาจพร้อมใจทุกสายการบินพิจารณายกเลิกเที่ยวบินขึ้นลงเชียงใหม่ทุกเที่ยวบินระหว่าง 11-14 พ.ย.51 ตลอดช่วงยี่เป็ง เพื่อความปลอดภัย
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ได้หารือร่วมกับนายไพโรจน์ แสงภู่วงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการปล่อยโคมลอยที่นิยมปล่อยกันในช่วงเทศกาลยี่เป็งหรือลอยกระทงจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ให้กระทบกับความปลอดภัยในการขึ้นลงของเครื่องบินที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดได้รับแจ้งจากทางการบินไทยให้ประสานกับทางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อความร่วมมือให้มีการปล่อยโคมลอยหลังเวลา 21.30 น.ในช่วงระหว่างวันที่ 11-14 พ.ย.51 โดยที่ทางการบินไทยจะทำการบินทุกเที่ยวบินที่ขึ้นลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้เสร็จทั้งหมดก่อนเวลาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากไม่สามารถขอความร่วมมือดังกล่าวได้ ทางการบินไทย รวมทั้งสายการบินอื่นๆ อาจจะพิจารณายกเลิกเที่ยวที่ขึ้นลงจากจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด
ขณะที่ธุดงคสถานล้านนา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมจัดงานยี่เป็งสันทราย ถวายพุทธบูชา 2551 ในวันที่ 8 พ.ย.51 โดยจะมีการปล่อยโคมลอยที่ออกใหม่เรียกว่า “โคมธรรมชัย” จำนวน 3,000 ลูก ซึ่งโคมดังกล่าวนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมกับทางธุดงคสถานล้านนาออกแบบใหม่ ให้มีความเสี่ยงลดน้อยลงในการจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหากตกลงไปใส่สายไฟฟ้า
พระธนฤทธิ์ คุณิทธิโก รักษาการผู้ช่วยประธานสงฆ์ธุดงคสถานล้านนา กล่าวว่า “โคมธรรมชัย” มีความสูงประมาณ 1.4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร มีการปรับปรุงวัสดุที่ใช้ยึดไส้โคม จากเดิมที่ต้องใช้ลวดยาว 90 เซนติเมตร เปลี่ยนมาเป็นใช้ลวดยาวเพียง 20 เซนติเมตร เพื่อยึดไส้โคม ส่วนที่เหลือเปลี่ยนเป็นเชือกธรรมดา เป็นการลดความยาวลวดตัวนำที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ขณะเดียวกันในส่วนของไส้โคมก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีขนาดเล็กเพื่อติดไฟในระยะเวลาที่สั้นลงเหลือประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไฟดับก่อนที่โคมจะหล่นลงมาบนพื้นและจะลอยอยู่บนอากาศไม่นานเท่าเดิมด้วย ทั้งนี้ จะใช้ “โคมธรรมชัย” เป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตโคมต่อไปเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่มีสาเหตุมาจากโคมลอย
ด้านนายเติมศักดิ์ แสงโชติ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า แม้จะมีการออกแบบโคมลอยใหม่ให้ความเสี่ยงในการทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรลดลง อย่างไรก็ตามการปล่อยโคมลอยยังคงเป็นปัญหาต่อการทำการบินของอากาศยานอยู่ดี โดยเฉพาะความปลอดภัยของเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร เพราะโคมลอยสามารถลอยขึ้นไปได้สูงถึง 33,000 ฟุต ซึ่งเป็นระดับที่เครื่องบินทำการบิน หากหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบสำคัญในการควบคุมเครื่องบิน สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งการต้องร่อนลงจอดฉุกเฉิน รวมไปถึงการระเบิด ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วจากการที่นกเพียงตัวเดียวหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์
“แม้จะมีการออกแบบโคมลอยใหม่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร แต่ไม่ได้หมายความว่าโคมลอยดังกล่าวปลอดภัยสำหรับการทำการบิน เพราะโคมลอยดังกล่าวยังคงลอยขึ้นไปได้ในระดับสูง และหากมีการหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์เครื่องบินอาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้นได้” นายเติมศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ กล่าวว่า หากจะมีการปล่อยโคมลอย อยากจะขอความร่วมมือผู้ที่จะปล่อยโคมลอย โดยเฉพาะการปล่อยจำนวนมาก ให้แจ้งกำหนดเวลาและสถานที่ที่จะทำการปล่อยผ่านทางอำเภอ แล้วทางอำเภอจะทำการแจ้งมายังศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานออกประกาศแจ้งเตือนให้นักบินทราบต่อไป เพื่อจะได้เพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการบินไปในบริเวณดังกล่าว