ศูนย์ข่าวศรีราชา - เอ็นจีโอภาคตะวันออก หวั่น อพท.ฮุบเมืองพัทยา หลัง 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ลงนามร่วมเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวกับเมืองพัทยา เพื่อรอประกาศการเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยหวัง อพท.จัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ชี้ควรศึกษากฎหมายอย่างละเอียด เชื่อละเมิดสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานถ้าไม่ออกมาต่อสู้เสร็จแน่
จากกรณีที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นำคณะผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองหนองปรือ เทศบาลห้วยใหญ่ เทศบาลตำบลบางละมุง เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เขาไม้แก้ว อบต.ตะเคียนเตี้ย อบต.โป่ง และอบต.หนองปลาไหล เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนว ทางการศึกษาความเหมาะสม ในการประกาศเขตพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งร่วมลงนามเห็นชอบการประกาศเป็นพื้นที่เชื่อมโยง ก่อนสอบถามความสมัครในการเข้าร่วมในการประกาศเขตพื้นที่พิเศษดังกล่าว
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยถึงกรณีที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ได้เสนอแนวคิดให้พื้นที่เมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยงเป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่านับเป็นการโยนหินถามทาง แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่ประชาชนชาวเมืองพัทยาต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาในหลายพื้นที่จะเห็นได้ว่าเมื่อ อพท.เข้าไปบริหารแล้วกลับสร้างปัญหาพอสมควร จนมีประชาชนและชาวชุมชนท้องถิ่นบางกลุ่มออกมาต่อสู้กันอย่างที่เป็นข่าวแพร่หลาย ซึ่งทางเมืองพัทยาจำเป็นต้องมองประเด็นดังกล่าวให้ลึกซึ้งก่อนดำเนิน การ อย่าหวังเพียงว่า อพท.จะเข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของตนให้เจริญมากขึ้นเท่านั้น
อพท.เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีการกำหนดข้อกฎหมายเพื่อเอื้อให้ อพท.มีอำนาจโดยตรงในการเขียนแผนพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงการพิจารณาประสานหางบประมาณการลงทุนด้านต่างๆ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะล่วงละเมิดสิทธิประชาชนในส่วนของที่ทำกิน หรืออาจจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนายทุนใหญ่เข้ามาบริหาร รวมถึงการเอาพื้นที่ของรัฐ หรือของส่วนรวมมาบริหารจัดการด้านภาคธุรกิจโดยอ้างว่าเป็นการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริหารเมืองพัทยา ต้องการจะให้เมืองพัทยาเป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็อยากให้นายกเมืองพัทยาศึกษาข้อกฎหมายที่คาบเกี่ยวของ อพท.ว่ามีความซ้ำซ้อนและมีผลดี ผลเสีย กับการพัฒนาท้องถิ่นหรือไม่อย่างไร และควรดูว่ากฎหมายที่เอื้อให้ อพท.ในรูปแบบต่างๆ นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ด้วย
นายสุทธิ ให้ความเห็นอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญปี 2550 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และทางภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลราย ละเอียดข้อมูลให้ประชาชนรับทราบที่มา-ที่ไป ในการดำเนินการด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง หากไม่เป็นตามนั้นก็จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามมาตรา 57 อย่างแน่นอน
ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักประสานงาน อพท.กล่าวว่า อพท.เป็นองค์กรมหาชนที่สรรหาพื้นที่ท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพและความเป็นเลิศทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ก่อนประสานความร่วมมือในการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งบทบาทหน้าที่สำคัญ คือ การประสานงาน การร่วมศึกษาข้อมูลในพื้นที่เพื่อการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลแนวทางการพัฒนา และขอจัดสรรงบประมาณโดยตรงจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เช่น เกาะช้าง เกาะเสม็ด เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น
ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผยว่า หากเมืองพัทยาได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวน่าจะเกิดผลดีในอนาคต เนื่องจาก อพท.เป็นหนทางหนึ่งในการสรรหาและประสานงานความร่วมมือเพื่อจัดสรรงบประมาณลงมาพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ แยกออกจากงบประมาณที่เมืองพัทยาได้รับการอุดหนุนอยู่แล้วโดยปกติ เนื่องจากหน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อรองนายกรัฐมนตรี และมีการเสนอแผนเพื่อขอจัดสรรการพัฒนาผ่านคณะรัฐมนตรีโดยตรง
ทั้งนี้ ในส่วนของเมืองพัทยาได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 1 ครั้ง และในวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้ลงนามเข้าร่วมไปแล้ว แต่ด้วยความคิดที่ต้องการให้พื้นที่รอบข้างและจุดเชื่อมโยงมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน จึงมีการเสนอให้มีการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลสรุปในที่ประชุมทุกฝ่ายต่างเห็นชอบต่อการสมัครใจ ในการประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว จึงได้มีพิธีร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้จะได้นำผลดังกล่าวเสนอต่อ อพท.และคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการอนุมัติประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป