ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รัฐบาลลาวส่งเสริมเอกชนปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะ มันสำปะหลังและสบู่ดำ สะหวันนะเขต-จำปาสัก เซกองเป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ โดยมีเป้าตลาดส่งออกอยู่ที่ไทย ขณะที่ผู้ค้าสินค้าเกษตรชาวลาวโอดไทยจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากลาวสูง เป็นอุปสรรคต่อการค้าร่วมกัน พร้อมเรียกร้องให้จัดเก็บเหลือศูนย์ ด้านทูตพาณิชย์แนะไทยเร่งปรับท่าทีก่อนถูกเวียดนาม-จีนตีกินเรียบ
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา เอกอัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ ประจำนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เปิดเผยว่า จากการนำนักธุรกิจชาวลาว จำนวน 38 คน ใน 38 ธุรกิจ เข้ามาศึกษาดูงานในประเทศไทย ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับทางการลาว ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ประจำปี 2552 ซึ่งนักธุรกิจชาวลาวให้ความสนใจเข้ามาศึกษาดูงานและแสวงหาความร่วมมือทำสัญญาคู่ค้ากับผู้ประกอบการชาวไทย
จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานภาคเหนือ และภาคอีสาน คือ ที่โรงงานไทยง้วนเอทานอล อ.พล จ.ขอนแก่น โรงงานวงษ์พาณิชย์ จ.พิษณุโลก และอุตสาหกรรมภาคการเกษตรที่ จ.เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ พบว่านักธุรกิจชาวลาวสนใจที่จะเข้ามาลงทุนและเจรจาคู่ค้ากับประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรและรับซื้อของเก่า เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและแผนการประกอบธุรกิจของคนไทยกลับไปปรับใช้ในลาวเพิ่มขึ้น
“ลาวยังคงยึดอาชีพภาคการเกษตร อุตสาหกรรมไม้เป็นภาคส่วนธุรกิจสำคัญ ในห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทางการลาวได้มีการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทนไปค่อนข้างมาก ซึ่งนักธุรกิจไทยก็ไปลงทุนภาคการเกษตรในฝั่งลาว ทำให้แผนการเจรจาคู่ค้าระหว่าง 2 ประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายเฉลิมพล กล่าวและว่า
พืชพลังงานทดแทนที่ผู้ประกอบการชาวลาวได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นมันสำปะหลังและสบู่ดำ ส่วนหนึ่งต้องการผลิตเพื่อป้อนให้แก่โรงงานในไทย ซึ่งมีความต้องการสูงมาก รัฐบาลไทยเองก็ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนเช่นกัน จากข้อมูลที่สำรวจพบว่าเกษตรกรชาวลาว ทำการปลูกมันสำปะหลังเฉลี่ยที่ 2,000 เอเคอร์ หรือ 10,000 ไร่ ในแต่ละเมือง โดยเฉพาะที่แขวงจำปาสัก สะหวันนะเขต เซกอง ปากเซ และเซโน ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง ข้าวและสบู่ดำเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวจากลาวเข้าสู่ประเทศคู่ค้าในอาเซียน คือ อัตราภาษีนำเข้าค่อนข้างสูง โดยรัฐบาลไทยกำหนดภาษีนำเข้าจากลาวในอัตราสินค้าภาคการเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 5 ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังที่เตรียมจะเก็บเกี่ยวของเกษตรกรชาวลาวต้องชะลอออกไป
นักธุรกิจลาวเองก็เรียกร้องให้ไทยทบทวนลดภาษีนำเข้าสินค้าภาคเกษตรให้น้อยที่สุด หรือเหลือศูนย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าซึ่งกันและกัน
“เวียดนามเริ่มเข้ามาตีตลาดในลาวมากขึ้นๆ ทำให้สินค้าบางประเภทที่เคยส่งจำหน่ายหรือนำเข้าจากไทย ผู้ค้าชาวลาวก็มีการเปลี่ยนไปเจรจากับ เวียดนาม หรือประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ โดยที่ไทยไม่พิจารณาหาทางออก เชื่อว่าอนาคตไทยจะเสียโอกาสทางธุรกิจเหล่านี้ให้เวียดนามกับจีน”
นายเฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้เวียดนามได้รุกเข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในสปป.ลาวมากขึ้น โดยเฉพาะที่แขวงสะหวันนะเขต และเซโน โดยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับยานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง