อุบลราชธานี- สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลก ให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ระดมสร้างจิตสำนึกลดสถิติการเสียชีวิต และความสูญเสียจากค่ารักษา โดยจับสุนัข-แมวเกือบ 2 แสนตัวฉีดวัคซีนและทำหมัน แก้ปัญหาสุนัข-แมวพเนจร พร้อมขึ้นป้ายประกาศให้พื้นที่ร่วมมือเป็นเขตปลอดโรคนี้ด้วย
วันนี้ (26 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวจังหวัดอุบลราชธานี รายงานว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกให้วันที่ 28 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก เพื่อระลึกถึง “หลุยส์ ปาสเตอร์” ผู้คิดค้นและผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนสำเร็จเป็นคนแรกของโลก และกระตุ้นเตือนให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงภัย โดยร่วมมือร่วมใจกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป
ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับระดมควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงในกลุ่มหมาและแมว รวมทั้งให้บริการผ่าตัดทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงไม่ให้มีมากจนเกินความจำเป็น
จากสถิติของกรมควบคุมโรคติดต่อระบุว่า ปี 2550 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคสุนัขบ้าทั้งสิ้น 17 ราย และมีผู้ถูกสุนัขกัดเข้ารับการรักษาป้องกันโรคกว่า 500,000 ราย โดยผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายป้องกันโรคคนละกว่า 2,000 บาท เมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากโรคนี้กว่า 1,000 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีประชากรสุนัขและแมวแบ่งได้ดังนี้ สุนัขมีเจ้าของจำนวน 151,803 ตัว เป็นเพศผู้ 73,057 ตัว เพศเมีย 78,746 ตัว และมีสุนัขเพศผู้กับเพศเมียไม่มีเจ้าของอีก 8,250 ตัว รวมมีสุนัขทั้งสิ้น 160,053 ตัว
ส่วนแมวมีเจ้าของ 26,531 ตัว เป็นเพศผู้ 11,936 ตัว เพศเมีย 14,595 ตัว และแมวเพศผู้กับเพศเมียไม่มีเจ้าของ 3,392 ตัว รวมทั้งจังหวัดมีประชากรแมวทั้งสิ้น 29,923 ตัว ซึ่งสุนัขและแมวทั้งหมดสามารถเป็นพาหนะนำโรคได้หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว
แต่ถ้าผู้เลี้ยงละเลยไม่ดูแดให้สัตว์เลี้ยงได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการเกิดโรค หรือปล่อยปละละเลยจะทำให้เกิดปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าในคนตามมาในอนาคต
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า หลังชุมชนต่างๆร่วมกันรณรงค์นำสุนัขและแมวเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค จะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า และยังมีการติดตามประเมินผลการควบคุมโรคแบบปีต่อปี จนกว่าโรคนี้จะหายไปจากโลกนี้ด้วย