ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประธาน กมธ.เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมเชื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง หลังผู้ประกอบการขนาดเล็กและใหญ่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานและแย่งชิงน้ำทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม จนต้องตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดใหม่เพื่อเร่งรัดและแก้ไข ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่ยังคงมีทิศทางสดใสจากปัจจัยบวกด้านความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
วานนี้ (1 ก.ย.) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้จัดสัมมนาเวทีวุฒิสภาพบประชาชนในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยในภาคตะ วันออกรุ่งโรจน์หรือร่วงโรยในยุคน้ำมันแพง" ที่โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน จ.ชลบุรี โดยมีคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ผู้แทนภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ค้าปลีกและภาคธุรกิจในจังหวัดเกือบ 200 คนเข้าร่วม
โดยการจัดสัมมนาดังกล่าวเกิดจากแนวคิดจากการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาที่มองเห็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการ รวม ถึงภาพรวมของประเทศและเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อกัน จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุต สาหกรรม วุฒิสภา เผยว่าแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การจัดการปัญหาที่ฉุดรั้งการเติบโตไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันเกิดการแย่งชิงกันระหว่างโรงงานต่างๆ จนสร้างความเสียหายต่อระบบเทรนนิ่งที่แต่ละสถานประกอบการได้จัดทำขึ้น ขณะที่การแย่งชิงน้ำในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรก็เป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกในอนาคตจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และล่าสุด กมธ.เศรษฐกิจฯ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อติดตามปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันภาคตะวันออกจะเจอปัญหาฉุดรั้งในเรื่องแรงงานและการขาดแคลนน้ำ แต่ทิศทางเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากการมีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการตั้งท่าเรือน้ำลึก และการขยายระบบลอจิสติกส์ ส่วนปัญหาการเมืองและการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและในพื้นที่ในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากต่างชาติมองการเคลื่อนไหวภาคประชาชนว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย
"ผมเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ กระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น และไม่เห็นด้วยที่มีการตีข่าวว่าการเคลื่อนไหวภาคประชา ชนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างที่สื่อมวลชนบางส่วนกำลังเสนออยู่ แต่ผมกลับมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องดีเพราะคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ซึ่งก็คงเป็นของใหม่ทั้งของรัฐบาลและข้าราชการที่ไม่เคยคุ้นจึงไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยปัญหาที่เกิดทางการเมืองในขณะนี้ผมเชื่อว่าคงยังไม่มีใครแก้ไขได้และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ" นายบุญชัย กล่าว
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงการจัดสัมมนาดังกล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญคือการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ SME ค้าปลีกท้องถิ่นและผุ้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในพื้นที่ให้ได้รู้ถึงทิศทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีที่มีการลงทุนในทุกด้าน และเร่งพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันผู้ประกอบการต่างถิ่นเข้ามายึดพื้นที่ เห็นได้จากการขยายตัวของกลุ่มโมเดิร์นเทรนในทุกพื้นที่ที่ทำให้ค้าปลีกท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนเกิดการประท้วงและเคลื่อนไหวของชุมชนในพื้นที่เพื่อต่อต้าน
โดยการสัมมนาในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รู้ว่าตัวเองควรปรับตัวเช่นไร ขณะที่คณะกรรมาธิการฯก็จะเร่งรัดในส่วนของรัฐบาลที่จะต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้มีทุนในการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน
"ในยุคที่น้ำมันราคาแพงขึ้นและยังมีปัญหาทางการเมือง แต่การลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกก็ยังไปได้ดีแม้จะได้รับผลกระทบบ้าง เห็นได้จากตัวเลขส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในช่วงที่ผ่านมา ที่พบว่าการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี มีถึง 45% ของการลงทุนทั้งประเทศ และในอนาคตจะถึง 50% เพราะต่างชาติยังเชื่อมั่น ด้านผลผลิตมวลรวมของภาคตะวันออกโตถึง 16% ขณะที่ผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศโตเพียง 5-5.5% เท่านั้น ส่วนจังหวัดชลบุรี ก็มีการเติบโตของผลผลิตมวลรวมสูง 12-14% ต่อปีมาโดยตลอด " นายสุรชัย กล่าว
ศก.โตทำการพัฒนาที่ดินตอ.
โตแบบไม่เป็นระเบียบ
นางสาวสุมาลี เดชานุรักษ์นุกูล ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง กล่าวว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกยังจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมเด่นด้านปิโตรเคมี การกลั่น ยานยนต์ เหล็กและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก มีถึงร้อยละ 22.9 ของการลงทุนทั้งประเทศ และภาคตะวันออกยังมีศักยภาพในการพัฒนาเส้นทางขนส่งและการค้าเพื่อเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีนสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ
อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจยังส่งผลให้การพัฒนาที่ดินในพื้นที่ไม่เป็นระเบียบจากการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดโซนนิ่งให้ชัดเจนเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับความจำเป็นในการจัดการแหล่งน้ำจะต้องมีขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าว ถึงภาวะและโอกาสทางการลงทุนของภาคตะวันออกว่า ในช่วง 7 เดือนแรกภาคตะวันออกมีโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 700 โครงการแต่เม็ดเงินอาจน้อยกว่าปีก่อนซึ่งเป็นเพราะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มีน้อยลง แต่ บีโอไอ.ก็ยังคงมีนโยบายในการสนับสนุนการลงทุนด้านยานยนต์ ปิโตรเคมี และเหล็กมากขึ้น
โดยยุทธศาสตร์ในการให้การสนับสนุนการลงทุนในภาคตะวันออกของบีโอไอ.นับจากนี้ไปจะมุ่งเน้นสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวกับการผลิตยานยนต์แบบครบวงจร รวมทั้งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีน้อยหรือยังไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญจะสนับสนุนการลงทุนผลิตอีโคคาร์และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่