xs
xsm
sm
md
lg

ศก.แย่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชนอยู่ลำบากเล็งปิดกิจการหนีขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุภัทรชัย หันจรัส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเมืองน้ำดำต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ดันต้นทุนผลิตสูง เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายสมาชิกกลุ่มเกษตรกร อาจทำให้หลายแห่งต้องปิดตัวลง

นายประพาส ภูวงกต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดงเมือง ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โรงปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีสมาชิก 150 ครัวเรือน มีกำลังการผลิตวันละ 2 ตัน ผลผลิตจำหน่ายถุงละ 320 บาท สามารถลดต้นทุนการผลิตภาคกสิกรรมให้กับสมาชิก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงถึงถุงละ 1,300 บาทได้เป็นอย่างดี

แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันเกิดการผันผวนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา ทำให้เริ่มมีปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมสำคัญ อาทิ โดโลไมล์ ยิบซั่ม มูลค้างคาว ต้องสั่งซื้อจากต่างจังหวัด ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และบางครั้งก็สั่งซื้อไม่ได้ เนื่องจากมีโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหลายแห่ง จึงทำให้สินค้าขาดตลาด และเป็นสาเหตุที่ต้องปิดโรงปุ๋ยในช่วงนี้

ด้านนายสุภัทรชัย หันจรัส ประธานกลุ่มวิสาหกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านโนนเสียว ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า มีสมาชิก 300 ครอบครัว ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 ประสบผลสำเร็จ แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันเกิดการผันผวน มีผลต่อราคาคาขนส่งและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้มีผลกระทบต่อระบบการผลิตเป็นอย่างมาก

เนื่องจากกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน 5 ล้านบาท จึงสามารถประคับประคองกิจการได้ ในช่วงก่อนถึงฤดูทำนา ได้เร่งการผลิตเพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ให้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิก เพื่อนำไปใช้ในแปลงนา ในช่วงนี้จึงยุติการผลิตเพื่อรอดูทิศทางราคาวัตถุดิบต่อไปสักระยะ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพทั่วจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณซีอีโอจัดสร้างแห่งละ 1 ล้านบาท 55 แห่งนั้น พบว่าผลการดำเนินการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ได้ผลผลิตที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดให้สมาชิกที่เป็นกลุ่มเกษตรกร ได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพคุณภาพดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำให้ให้สภาพดินเสื่อมโทรมและลดรายจ่ายที่เพิ่มสูง

แต่จากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากน้ำมันขึ้นราคา โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์หลายแห่งจึงต่างรอดูทิศทางราคาต้นทุนการผลิต และรอเวลาฟื้นตัว ควรที่ภาครัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปดูแล เพื่อให้โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นความหวังของเกษตรกรอยู่ได้ และเกษตรกรจะได้อยู่รอด



กำลังโหลดความคิดเห็น