xs
xsm
sm
md
lg

2 กลุ่มการเมืองเปิดศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.พิษณุโลก-สมัครวันแรกคึกคัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เปิดรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.สองแคว วันแรก แห่สมัครถึง 10 คน แต่ล้วนคนของ “กลุ่มพิษณุโลกพัฒนา” และ “คณะหลักเมือง” ที่ส่งเข้าสมัครชิงไหวชิงพริบเพื่อให้ได้เบอร์สวย รอวันเลือกตั้งปลายกันยายนนี้

วันนี้ (18 ส.ค.) ที่ห้องสุพรรณกัลยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก นายบุญลือ ชัยรัตน์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง (นายก อบจ.) วันแรก โดยมีผู้สมัครจำนวน 10 คน ยื่นความจำนงก่อนเวลา ซึ่งถือว่า เดินทางพร้อมกัน แต่ผู้สมัครทั้งหมดไม่สามารถเจรจาตกลงเลือกเบอร์ที่ตนชอบได้จึงต้องใช้วิธีจับฉลาก

โดยผู้สมัครทั้งหมดได้จับฉลาก คือ เบอร์ 1.สุรินทร์ ฐิติปุญญา 2.นายฐิตินันท์ ฐิติประวัติ 3.นายสิทธิชัย รอดพันธุ์ใหม่ 4.นายจำลอง อาจคงหาญ 5.นายนพพร ภู่ขาว 6.นายจำนง จันทรา 7.นายสหัทยา กันนะพันธุ์ (เดิมเบอร์ 8) 8.นายสมบุญ บ่างตระกูล (เดิมเบอร์10) และ 9 นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ ทั้งนี้มีผู้สมัคร เบอร์ 7 ได้ถอนตัวระหว่างยื่นใบทำให้ต้องขยับเบอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดากองเชียร์ที่เดินทางมาต้อนรับ ล้วนเป็นกลุ่มคณะหลักเมือง ซึ่งมีนายธวัชชัย กันนะพันธุ์ (เบอร์ 9) อดีตนาย อบจ.พิษณุโลก 2 สมัย ทำให้บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เริ่มมีการจับฉลากเลือกเบอร์ ขณะที่กลุ่มของนายสุรินทร์ ฐิติปุญญา (เบอร์ 1) เสี่ยเจ้าของโชว์รูมโตโยต้า คณะพิษณุโลกพัฒนา ไม่มีกองเชียร์มาต้อนรับหรือถือป้าย เมื่อสมัครเสร็จก็เดินทางกลับอย่างเงียบๆ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สมัครทั้ง 10 คนนั้น ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้นอย่างชัดเจน คือ กลุ่มของคณะหลักเมืองที่มี นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ อดีตนายกอบจ.พิษณุโลก 2 สมัย เป็นหัวหน้าคณะหลักเมือง และกลุ่มพิษณุโลกพัฒนา ที่มีนายสุรินทร์ ฐิติปุญญา เป็นหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งถือว่า เป็นผู้ท้าชิง ดังนั้นจึงเป็นเกมการแข่งขันระหว่าง เบอร์ 1 กับเบอร์ 9 โดยจะเลือกตั้งวันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2551 ซึ่งถือว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แข่งขันรุนแรงและดุเดือด

เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิก อบจ.ทั้ง 30 คนเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ มีการทุ่มชิงตัวสมาชิก อบจ.ให้เข้ามาอยู่ในสังกัดให้มากที่สุดและมีการสับเปลี่ยนตัวไปมาระหว่าง 2 ขั้วการเมือง กระทั่งวินาทีสุดท้ายแบ่งฝ่ายออกเป็นข้างละ 15 คน และใช้วิธีจับฉลากในการเลือกตั้งประธานสภาสภา แทนการยกมือโหวต เหตุนับคะแนนเสียงโหวตทุกครั้งมีคะแนนเท่ากันคือ 15 คะแนน


กำลังโหลดความคิดเห็น