xs
xsm
sm
md
lg

สทอภ.เตรียมส่งดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจรโลก 6 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงร่างแบบของธีออส
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.หรือ GISTDA) กำหนดส่งดาวเทียมธีออส (Thailand Earth Observation Systems: THEOS) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทยในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติขึ้นสู่วงโคจรโลก หลังมีความพยายามมาแล้วหลายครั้ง

“ผู้จัดการออนไลน์” รายงานว่า ในวันพุธที่ 6 สิงหาคม 2551 ที่จะถึงนี้ ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) “สทอภ.” หรือ GISTDA ซึ่งมีภารกิจหลักเพื่อให้บริการข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในระดับชาติและระดับสากล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตประชาชน และความมั่นคงของชาติ โดยกำหนดส่งดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจรโลกช่วงเวลา 11.00-17.30 น.

ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออส นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามส่งดาวเทียมดังกล่าวสู่วงโคจรโลกหลายต่อหลายครั้ง แต่ติดปัญหาเรื่องการเจรจาต่อต่างประเทศที่ไม่ยอมให้เศษชิ้นส่วนของดาวเทียมตกมายังพื้นที่ของประเทศตนจึงทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการมาอย่างต่อเนื่อง หลังบรรลุข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ล่าสุดประเทศไทยกำหนดส่งดาวเทียมธีออสในวันดังกล่าวข้างต้น ที่สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาเป็นประธานในกิจกรรม

อนึ่ง “ดาวเทียมธีออส” เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) มีอายุการใช้งาน 5 ปี มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม มีวงโคจรสูงจากพื้นโลก 820 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทุก 26 วัน มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง ระบบถ่ายภาพเช่นเดียวกับกล้อง (Optical system) โดยใช้ซีซีดี (Charge Coupled Devices:CCD) เป็นอุปกรณ์บันทึกภาพ ณ ระนาบรวมแสงของระบบ

ซึ่งจะแปลงข้อมูลจากแสงที่สะท้อนจากพื้นโลกให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และตัวเลนส์ของกล้องผลิตจากซิลิกอนคาร์ไบด์ (Silicon Carbide) สามารถบันทึกภาพจากการสะท้อนแสงของพื้นโลกได้เป็นภาพขาวดำ (Panchromatic) ที่รายละเอียด 2 เมตร แต่ละภาพมีความกว้าง 22 กม.และภาพสเปกตรัม (Multispectral) ที่รายละเอียด 15 เมตร แต่ละภาพมีความกว้าง 90 กิโลเมตร และโคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร

โดยบันทึกได้ 4 ช่วงคลื่นหรือแบนด์ ได้แก่ แบนด์ (1) 0.45-0.52 ไมครอน (สีน้ำเงิน), แบนด์ (2) 0.53-0.62 ไมครอน (สีเขียว), แบนด์ (3) 0.62-0.69 ไมครอน (สีแดง) และแบนด์ (4) 0.77-0.90 ไมครอน (อินฟาเรดใกล้) ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. ทั้งนี้ ดาวเทียมธีออสเกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลฝรั่งเศส โดย สทภอ.ดำเนินการร่วมกับ บริษัท เอียดส์ แอสเทรียม (EADS Astrium) จากประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6 พันล้านบาท
กราฟฟิคกจำลองของดาวเทียมธีออส
ฐานล่างของดาวเทียมธีออสผลิตจากอลูมิเนียม
กำลังโหลดความคิดเห็น